ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่เกิน 3 พันลบ. SIRI ที่ "BBB-" เปลี่ยนแนวโน้มเป็น "Negative" จาก "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2020 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่ระดับ "BBB+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB-" ด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทที่อาจไม่ลดลงตามคาดการณ์ นอกจากนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ยอดขายและยอดโอนของบริษัทต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงการที่บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย และมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนในระดับสูงและความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำซึ่งเป็นผลมาจากการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของรายได้จากค่าบริหารธุรกิจและส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าที่มากขึ้นจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับดีขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลางได้

หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ 2 ขั้น ทั้งนี้ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้ ทริสเรทติ้งกำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทมีระดับ "ความเป็นทุนปานกลาง" (Intermediate Equity Content) ซึ่งหมายความว่าหุ้นกู้ดังกล่าวมีความด้อยสิทธิ สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้ตามดุลยพินิจของบริษัท ไม่สามารถไถ่ถอนได้ในช่วง 5 ปีแรก และมีสถานะเป็นทุนที่เพียงพอ

ดังนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจะจัดให้ 50% ของเงินต้นคงค้างของหุ้นกู้เป็นทุนและอีก 50% เป็นเงินกู้ ระดับ "ความเป็นทุนปานกลาง" ดังกล่าวจะลดลงสู่ระดับ "ความเป็นทุนน้อย" ที่ 0% (Minimal Equity Content) ในวันครบกำหนด 5 ปีนับจากวันที่ออกหุ้นกู้ ทั้งนี้ เนื่องจากอายุคงเหลือจริง (Remaining Effective Maturity) ของหุ้นกู้ ณ วันดังกล่าวนั้นมีน้อยกว่า 20 ปี

บริษัทยังมีความประสงค์ที่จะ (แต่ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องดำเนินการ) ทดแทน หรือชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ที่ไถ่ถอน หรือซื้อคืนด้วยตราสารทุนที่เท่าเทียมกันหรือดีกว่าด้วย นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิฯ ของหุ้นกู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล การเปลี่ยนแปลงหลักการทางบัญชี หรือการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันจัดอันดับเครดิตในเรื่องของความเป็นทุนของหุ้นกู้แล้ว ทริสเรทติ้งจะลดระดับความเป็นทุน (Equity Content) ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่จะออกใหม่สู่ระดับ "ความเป็นทุนน้อย" จากระดับ "ความเป็นทุนปานกลาง" หากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้แตกต่างไปจากข้อกำหนดสิทธิฯ เรื่องความประสงค์ในการออกหลักทรัพย์เพื่อทดแทนหุ้นกู้ (Replacement Capital Covenant – RCC)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สินค้ามีความหลากหลายและเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้เนื่องจากการมีสินค้าที่หลากหลายและมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมระหว่างการพัฒนา 37 โครงการ (รวมโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้กิจการร่วมค้า 12 โครงการ) และโครงการบ้านจัดสรร 64 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 8.94 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ทั้งนี้ โครงการบ้านจัดสรรคิดเป็น 54% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม

บริษัทมีสินค้าที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ในหลายระดับราคาที่แตกต่างกัน คอนโดมิเนียมของบริษัทครอบคลุมระดับราคาต่ำถึงสูงซึ่งมีราคาขายอยู่ในช่วง 50,000 บาทถึง 600,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) บ้านเดี่ยวของบริษัทอยู่ภายใต้แบรนด์คณาสิริ ฮาบิเทีย สราญสิริ บุราสิริ เศรษฐสิริ นาราสิริ และบ้านแสนสิริซึ่งมีราคาตั้งแต่ 4-240 ล้านบาทต่อยูนิต และทาวน์เฮ้าส์ภายใต้แบรนด์ฮาบิทาวน์ เมททาวน์ สิริเพลส สิริอเวนิว ทาวน์อเวนิว บีอเวนิว และไทเกอร์ เลน ซึ่งครอบคลุมระดับราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทจนถึง 80 ล้านบาทต่อยูนิต

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ใน 3 ลำดับแรกของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ 2.7-3.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และลดลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ในส่วนของยอดขายนั้น บริษัทมียอดขายขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ 4.83 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และลดลงเหลือ 2.08 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 โดยส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เนื่องจากผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอาจลดลง 20%-30% จากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานรวมควรปรับดีขึ้นเป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งบริษัทอาจได้รับแรงหนุนจากยอดขายรอการรับรู้รายได้ ณ สิ้นปี บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นมูลค่า 1.14 หมื่นล้านบาทในปี 2563 9.3 พันล้านบาทในปี 2564 7.6 พันล้านบาทในปี 2565 และ 0.4 พันล้านบาทในปี 2566

ความสามารถในการทำกำไรยังคงได้รับแรงกดดันแต่คาดว่าน่าจะปรับดีขึ้นหลังจากปีนี้

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งและการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี 2563 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เท่ากับ 18%-23% ในช่วงปี 2557-2562 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในกิจการร่วมค้าที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรของบริษัทลดลงเป็น 5%-6% ในช่วงปี 2561-2562 จาก 8%-10% ในช่วงปี 2557-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปีนี้อาจลดลงเนื่องจากบริษัทต้องใช้เงินทุนในการทำการตลาดและส่งเสริมการขายเพื่อเร่งยอดขายและยอดโอนให้มากขึ้น อัตรกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อาจลดลงต่ำกว่า 15% ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรก็อาจลดลงต่ำกว่า 3% ในปี 2562 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการโอนโครงการของบริษัทเองน่าจะดีขึ้นในปีถัดไป นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้จากกิจการร่วมค้าน่าจะปรับดีขึ้นด้วยภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสบรรเทาลง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าที่ 0.5-0.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้กิจการร่วมค้าระหว่างการพัฒนา 12 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขาย 1.76 หมื่นล้านบาท โครงการกิจการร่วมค้าทั้งหมดมียอดขาย 58% และยอดโอน 27% ทั้งนี้ ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของกิจการร่วมค้ามีมูลค่า 1.31 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 31% ของยอดขายรอการรับรู้รายได้ทั้งหมดของบริษัท นอกจากนี้ จำนวนโครงการภายใต้กิจการร่วมค้าที่มากขึ้นจะยิ่งทำให้บริษัทมีรายได้ค่าบริหารธุรกิจที่มากขึ้นด้วย ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าบริหารธุรกิจของบริษัทจะอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5%-8% ในช่วงปี 2564-2565 เมื่อภาวะตลาดปรับดีขึ้น

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอาจยังคงอยู่ในระดับสูงช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอาจอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2563 แทนปี 2562 ที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากผลกระทบเชิงลบของการแพร่ระบาดไวรัสCOVID-19 จะทำให้แผนของบริษัทในการส่งมอบโครงการคอนโดมิเนียมทั้งของบริษัทเองและของกิจการร่วมค้าในช่วงปี 2563-2564 ไม่บรรลุผลตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าบริษัทจะลดการเปิดโครงการใหม่ลงเนื่องจากการชะลอตัวของตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยภายหลังจากที่เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีผลบังคับใช้ในปี 2562 รวมถึงสงครามการค้าโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 68% ในปี 2562 จาก 65% ในปี 2561 ทั้งนี้ ต้นทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 8.08 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 6.95 หมื่นล้านบาทในปี 2561

อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงเหลือ 5% ในช่วงปี 2561-2562 จาก 9% ในปี 2560 จากประมาณการที่ปรับใหม่ของทริสเรทติ้ง คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจลดลงจากยอดโอนที่คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการเดิม ดังนั้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอาจต่ำกว่า 5% อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้

ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้ว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจนี้ แต่ก็สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างเปราะบางและต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวรวมทั้งภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นการแพร่ระบาดของไวรัสอาจส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศหดตัว โดยระยะเวลาการแพร่ระบาดยิ่งนานก็จะยิ่งส่งผลกระทบที่มากขึ้นต่อธุรกิจ อนึ่ง แม้ในกรณีที่การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ แต่ยอดขายที่อยู่อาศัยก็น่าจะยังคงลดลงที่ระดับประมาณ 20%-30% จากปีก่อนหน้า

ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อผู้ประกอบการเริ่มยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากความกลัวการแพร่กระจายของไวรัสภายนอกประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ซื้อบ้านที่เข้าเยี่ยมชมโครงการลดลงอย่างมากจากความกังวลเรื่องการติดเชื้อและจากการที่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการเดินทางและการทำกิจกรรมทางสังคม ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตอาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อรายได้และกระแสเงินสดจากการส่งมอบที่อยู่อาศัย

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรักษาสภาพคล่องทางการเงินเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ความกลัวเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสต่อภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย การแพร่ระบาดที่กินเวลายาวนานขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนหันมาถือเงินสดและลังเลที่จะลงทุนแม้แต่ในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่แม้จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพดี การที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่ต้องการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้เดิม

สภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังสามารถบริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.5 พันล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 0.8 พันล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีจำนวน 1.57 หมื่นล้านบาทและสินค้าเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ของบริษัทซึ่งมีมูลค่าขายอีกจำนวน 5.7 พันล้านบาทด้วย บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.71 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 5.5 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงินระยะสั้น 1.4 พันล้านบาท เงินกู้โครงการ 3.9 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวค่าที่ดิน 1.3 พันล้านบาท และหุ้นกู้ 5 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนลดน้อยลง บริษัทมีแผนสำรองที่จะใช้วงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้เพื่อจ่ายชำระคืนหนี้สินระยะสั้นและหุ้นกู้

บริษัทจำเป็นต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ตามงบการเงินรวมของบริษัท) ไม่ให้เกินกว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2562 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.96 เท่า ดังนั้น บริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินอยู่

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับปี 2563-2565 มีดังนี้

บริษัทจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทเองและของโครงการร่วมทุนมูลค่า 8 พันล้านบาทในปี 2563 และ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

บริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 8 พันล้านบาทต่อปี

งบประมาณในการซื้อที่ดินสำหรับโครงการของบริษัทเองอยู่ที่ 3-5 พันล้านบาทต่อปี

บริษัทจะใช้เงินลงทุนในกิจการร่วมค้าและบริษัทที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 0.6 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความกังวลต่ออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทที่อาจไม่ได้ปรับดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจทำให้ยอดขายและยอดโอนของบริษัทต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงเกินกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 5% อย่างมีนัยสำคัญได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับกลับไปเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 5%-10% ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ หากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงโดยไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ