ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive parts) ก็ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากหลายโรงงานต้องปิดชั่วคราว โดยรายได้จากธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนราว 34% ของยอดขายรวม
ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (Lubricant Packaging) ปีนี้คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน โดยมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 46% ของยอดขายรวม ส่วนธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคครัวเรือน และบรรจุภัณฑ์เคมี (Consumer, Household & Chemical Packaging) ในปีนี้คาดจะมีสัดส่วนยอดขายเพิ่มขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีก่อนมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 6% ของยอดขายรวม
"สัดส่วนยอดขายปีนี้เรามองว่าชิ้นส่วนยานยนต์จะลดลงราว 5% เป็น 27-28% จากเดิมอยู่ที่ 34% และบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 60-67% ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์แอลกอฮอล์ และถัง"นายวิวรรธน์ กล่าว
สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก โรงงานเจียงซู มณฑลเจียงซู ประเทศจีน ในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการปิดโรงงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทำให้มีค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ทางรัฐบาลจีนมีมาตรการดูแลภาคเอกชน โดยจะชดเชยให้ในช่วงที่ปิดดำเนินการไป ทำให้บริษัทคาดว่าจะได้รับการชดเชยความเสียหายเข้ามาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม โรงงานดังกล่าวได้เริ่มกลับมาดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.63 คาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้เล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี จากปีก่อนที่รับรู้รายได้เข้ามาเพียง 4 เดือน โดยวางเป้ารายได้ในปีนี้ไว้ที่ 300 ล้านบาท และเชื่อว่าในปีนี้ผลขาดทุนของประเทศจีนจะลดลงอย่างมาก หรือไม่มีผลขาดทุนเลย ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในไทยได้
นายวิวรรธน์ กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องนำแผนการควบคุมต้นทุนมาใช้อย่างเข้มข้น เช่น ชะลอการลงทุนออกไปก่อน, ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือปรับเวลาเข้างานให้สอดคล้องกับออเดอร์, การคงจำนวนพนักงาน, พิจารณาสวัสดิการที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) ไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 16.29% จากการบริหารต้นทุนที่ดี
"ปีนี้เราคงไม่ได้คาดหวังการเติบโตของยอดขาย จากโควิด-19 ที่เข้ามากระทบ แต่เราจะบริหาร ต้นทุนตามแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับบริษัทจนเกินไป ขณะที่จีน เราก็จะบริหารยอดขาย ไม่ให้เกิดความผันผวน ซึ่งความผันผวนจะส่งผลต่อต้นทุนได้"นายวิวรรธน์ กล่าว
ด้านธุรกิจผลิตพลาสติกทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่เข้าประมูลโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอราคา แต่ยังไม่ได้ข้อสุป และในอนาคตบริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำกว่า 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 30% ของเขื่อนทั้งหมดที่มี โดยบริษัทคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตได้ดีในช่วงปี 65-70 ซึ่งเป็นโอกาสในการเข้ารับงานมากขึ้น