นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 60% ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ปตท.สผ. ประเมินว่าปริมาณการขายในปี 63 อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย โดยปริมาณการขายที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 388,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ไม่เกิน 5% เนื่องจากปริมาณการขายของบริษัทกว่า 70% เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อขั้นต่ำไว้แล้วตามสัญญา
ด้านราคาขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนของน้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณการขายประมาณ 30% ของปริมาณการขายทั้งหมด อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งบริษัทได้มีการทำสัญญาประกันความเสี่ยงด้านราคาไว้แล้วบางส่วน สำหรับราคาขายก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ปตท.สผ. ได้กำหนดราคาขายในหลายโครงการกับคู่สัญญาไว้แล้ว ซึ่งหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทในระยะต่อไป
"จุดแข็งที่สำคัญของ ปตท.สผ. อีกประการหนึ่งคือเรามีโครงสร้างต้นทุนในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราทำการปรับตัวในช่วงที่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเผชิญกับวิกฤติราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โครงการหลักเราอยู่ในไทย มาเลเซีย เมียนมา และตะวันออกกลางซึ่งถือว่ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ทำให้บริษัทยังคงรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไว้ได้"นายพงศธร กล่าว
นายพงศธร กล่าวอีกว่า สถานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันที่ยังมีความมั่นคง ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นเตรียมการรับมือกับราคาน้ำมันที่อาจจะอยู่ในระดับต่ำในระยะยาว บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การเลื่อนแผนการเจาะสำรวจในบางโครงการออกไป เป็นต้น โดยสิ่งสำคัญที่คำนึงถึงเสมอคือต้องไม่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต รวมถึงความต้องการใช้พลังงานของประเทศด้วย
สำหรับแผนการดำเนินงานในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) นั้น ยังคงดำเนินการแผนเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้รวมกัน 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่มีไว้กับรัฐบาลในปี 65-66
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่ง ปตท.สผ. มีแผนการบริหารจัดการภาวะวิกฤติและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management หรือ BCM) รองรับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าวในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ โดยที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ มีมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่พักอาศัย (Work from Home) ส่วนในต่างประเทศ ต่างจังหวัด และนอกชายฝั่ง ได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด