นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยืนยันสถานภาพทางการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสร้างความไม่แน่นอนมากกมายให้กับธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทฯ และให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้
"เราเพิ่งทำการจำลองการทดสอบความเครียดทางการเงินไป ซึ่งเรามั่นใจมากว่าเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ เนื่องจากเรามีงบดุลที่แข็งแกร่งมาก แต่แน่นอนว่าเราต้องมุ่งเน้นไปที่การเก็บรักษาเงินสด เราจำเป็นต้องทำในสิ่งที่บริษัทอื่น ๆ ทำเช่นเดียวกัน เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราสามารถเก็บรวบรวมลูกหนี้ของเราได้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเงินทุนธนาคารของเราพร้อมใช้งาน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราจะสามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้"นายธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา มองว่าในแต่ละธุรกิจจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป โดยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ถือว่ายังมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมีการเติบโตเกินกว่าป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในขณะนี้ ทั้งในผลิตภัณฑ์พร้อมทานและผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดขายต่อสัปดาห์ในบางประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 50-60%, ธุรกิจจัดส่งและค้าปลีก ก็อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน ส่วนธุรกิจแช่แข็ง ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมการโรงแรม ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยประเมินว่าจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 25-30%
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป คิดเป็น 44% และอาหารทะเลแช่แข็ง คิดเป็น 41% ที่เหลือเป็นอื่น ๆ
ทั้งนี้ แม้ธุรกิจอาหารแช่แข็งจะได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่การขายสินค้าผ่านออนไลน์ในประเทศจีน กลับมีการเติบโตอย่างมากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าทีมงานในประเทศจีนโดนกักตัวในบ้านไป 20 วัน แต่ผลการดำเนินงานในขณะนี้ก็เกินกว่าเป้าหมายที่เอาไว้แล้ว ทำให้คาดว่าน่าจะสามารถชดเชยกับยอดขายที่หายไปได้ไม่ยาก
พร้อมกันนี้มองอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเช่นนี้ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเดินเครื่องผลิตอย่างต่อเนื่อง และโรงงานบางแห่งก็ได้มีการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ มองว่าจะไม่ทำให้การผลิต หรือขนส่งของไทยหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ
"แม้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าโควิด-19 สามารถส่งผ่านจากอาหารที่ปนเปื้อนได้จริง แต่ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ผู้บริโภคของเรา รวมถึงติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้" นายธีรพงศ์ กล่าว
ด้านนายบัลลังก์ ไวยานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปดูแลด้านนักลงทุนสัมพันธ์ TU กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารกระป๋อง มียอดขายเพิ่มขึ้น จากหลาย ๆ ประเทศมีการซื้อสินค้ามากขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจอาหารแช่เย็น แช่แข็ง (Frozen seafood) ได้รับผลกระทบจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร หยุดดำเนินกิจการในช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตามร้านค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซี, ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต และแม็คโคร เป็นต้น ยังคงจำหน่ายสินค้าได้อยู่ ทำให้ลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ้าง ส่วนธุรกิจร้านอาหาร Red Lobster ก็ได้รับผลระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้มีการปิดสาขาในแต่ละประเทศไปแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค.63 ค่าเงินบาท ได้ปรับตัวอ่อนค่ามาที่ราว 31.00 บาท/ดอลลาร์ ก็ส่งผลดีต่อผู้ส่งออก ซึ่งรวมถึงบริษัทฯ ด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงผลการดำเนินในช่วงไตรมาส 1/63 ว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงของการปิดงบดังกล่าว
สำหรับความคืบหน้าการนำบมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการเลื่อนแผนการดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสวิด-19 และภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก และยังมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำ หรือ 1.07 เท่า รวมถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าจดทะเบียนฯ นั้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของ TFM และมองเห็นคุณค่าของบริษัทย่อยของ TU เนื่องด้วย TFM ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดีมาโดยตลอด