บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัดประกาศยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท นวลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยที่สูงของบริษัทเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง และคุณภาพของสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงหลังจากเปลี่ยนไปเน้นการให้สินเชื่อรถยนต์มือสอง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากระดับทุนที่พอเพียงของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ “ลบ" ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานของความกังวลในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทหลังจากที่หันมาเน้นสินเชื่อรถยนต์มือสอง แม้ว่าผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากสินเชื่อรถยนต์มือสองของบริษัทจะสามารถชดเชยต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นได้ แต่เมื่อพิจารณาบนพื้นฐานของความเสี่ยงและผลตอบแทนแล้ว ทริสเรทติ้งยังคงกังวลว่าผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจะไม่เพียงพอต่อภาระกันสำรองที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจลดลงหากคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรลดลงมากกว่าที่คาดไว้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทนวลิสซิ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยบริษัทมีสินเชื่อคงค้างเพียง 2,578 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 การแข่งขันที่รุนแรงทางด้านอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใหม่ลดลง โดยสินเชื่อคงค้างลดลงจาก 3,638 ล้านบาทในปี 2547 มาอยู่ที่ 2,300-2,600 ล้านบาทในปี 2548 ถึงไตรมาสแรกของปี 2550 นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญกับปัญหาด้านสภาพคล่องในปี 2548 เมื่อนักลงทุนตัดสินใจต่ออายุตั๋วแลกเงินเฉพาะของผู้ออกตั๋วที่มีคุณภาพเครดิตในระดับสูงเท่านั้น แต่หลังจากผู้บริหารชุดปัจจุบันเข้าบริหารงานในกลางปี 2548 ปัญหาด้านสภาพคล่องก็บรรเทาลงจากการใช้เงินกู้ยืมระยะกลางและการเพิ่มทุน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทนวลิสซิ่งได้นำกลยุทธ์และนโยบายใหม่มาใช้ในปลายปี 2548 โดยบริษัทได้เปลี่ยนไปเน้นการให้บริการสินเชื่อรถยนต์มือสองมากขึ้น ในปี 2549 สินเชื่อใหม่ของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อรถยนต์มือสอง 91.8% และสินเชื่อรถยนต์ใหม่ 8.2% อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อคงค้างเฉลี่ย) เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 3.0% ในปี 2549 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์มือสองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสินเชื่อรถยนต์มือสองจะมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงกว่าสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ในอนาคตข้างหน้า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทจะมีคุณภาพเครดิตที่ด้อยลงซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นสิ่งท้าทายที่บริษัทจะต้องรับมือ และจากการมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เปลี่ยนไป บริษัทจึงดำรงฐานทุนให้เพียงพอในการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และแม้ว่าอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมจะลดลงจาก 46.9% ในปี 2548 เป็น 44.2% ในปี 2549 และ 40.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--