นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท จาก 1.09 หมื่นล้านบาทในปีก่อน โดยมุ่งเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) เพิ่มขึ้นอีก 3 ตัว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/63 ล่าช้ากว่าแผนเดิมเล็กน้อยหลังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทางการจีนไม่เปิดประเทศทำให้การก่อสร้างชะลอออกไป อย่างไรก็ตามภายหลังการติดตั้ง Boiler แล้วเสร็จ ก็จะส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 95%
ขณะที่การดำเนินโครงการใหม่ ๆ ที่จะเปิดประมูลคาดว่าจะถูกเลื่อนออกไป เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิตราว 400 เมกะวัตต์ (MW) รวมไปถึงการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟ 40 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ RDF ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 70 เมกะวัตต์ ก็ได้ถูกเลื่อนไป ซึ่งต้องรอสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศให้คลี่คลายไปก่อน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนต่าง ๆ ยังอยู่ในแผนที่บริษัทตั้งไว้ และแนวโน้มของธุรกิจพลังงานยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนใหม่ ๆ ที่วางแผนไว้ปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของบริษัท เพราะบริษัทไม่เร่งการลงทุนในช่วงที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน และการลงทุนใหม่ ๆ ยังมีระยะเวลาการลงทุนได้อีกมากกว่าที่จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2-3 ปี ทำให้มองว่าหากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายก็มีโอกาสที่จะกลับมาลงทุนได้ต่อ
บริษัทในเครือทั้งหมด ประเมินและติดตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดมาตลอด พร้อมดำเนินตามการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยต่าง ๆ สอดรับนโยบายของภาครัฐ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน และการดำเนินธุรกิจ อย่างเคร่งครัด โดยได้ตั้งจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าอาคารและโรงงาน และพ่นยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดอาคารสำนักงาน และติดตั้งเจลล้างมือฆ่าเชื้อ (แอลกอฮอลล์กว่า 70%) ไปตามจุดต่าง ๆ ในบริษัท และเดินหน้าแผนธุรกิจเพื่อให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานและความสามารถการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ส่วนแผนงานระยะยาว ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยจะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power purchase agreement : PPA) ในส่วนสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยพิจารณาโครงการที่มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) และความเสี่ยงที่มีความเหมาะสม
ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) บริษัทได้รับเชิญจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอโครงการแผนลงทุนเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยบริษัทได้อาสาที่จะลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดสีเขียว นิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว ในพื้นที่ Southern Seaboard เนื่องจากมีที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการในปัจจุบันกว่าหนึ่งหมื่นไร่