นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังมีโมเมนตัมเป็นบวกได้อยู่ จากมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ระหว่างทางอาจเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง เนื่องจากเช้านี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างติดลบกันเล็กน้อย เช่นเดียวกับดาวโจนส์ที่ติดลบไม่มาก
ทั้งนี้ บ้านเราอาจจะผันผวนได้เล็กน้อยระหว่างทางจากแรงขายทำกำไร แต่ภาพรวมยังเป็นบวก จากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ที่น้อยลง และนโยบายของภาครัฐฯ ทำให้ตลาดฯน่าจะยังยืนเหนือระดับ 1,200 จุดได้ ซึ่งมองหุ้นจำพวก Domestic plays ที่มีการเติบโตจากภายในน่าจะกลับมาได้
นอกจากนี้ ให้ติดตามการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซียในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งคาดว่าจะลดกำลังการผลิตประมาณ 10-15 ล้านบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI เมื่อวานนี้ปรับตัวลงเกือบ 10% เป็นผลจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2563 แต่เช้านี้ราคาน้ำมันฟิวเจอร์สได้ปรับตัวขึ้น ซึ่งหุ้นในกลุ่มพลังงานน่าจะเล่นตามราคาน้ำมันฟิวเจอร์ส
พร้อมให้แนวรับ 1,200 จุด ส่วนแนวต้าน 1,238 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (7 เม.ย.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 22,653.86 จุด ลดลง 26.13 จุด (-0.12%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,659.41 จุด ลดลง 4.27 จุด (-0.16%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,887.26 จุด ลดลง 25.98 จุด (-0.33%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 97.58 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 14.84 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 61.97 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 14.25 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 7.85 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 43.58 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 3.46 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 56.30 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (7 เม.ย.63) 1,214.95 จุด เพิ่มขึ้น 76.11 จุด (+6.68%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 525.44 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (7 เม.ย.63) ปิดที่ 23.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 2.45 ดอลลาร์ หรือ 9.4%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (7 เม.ย.) อยู่ที่ -0.74 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.82 อ่อนค่าจากวานนี้ ตลาดรอดูสถานการณ์โควิดในประเทศหลังเริ่มมีสัญญาณดี มองกรอบวันนี้ 32.70-32.90
- ครม. ไฟเขียววงเงิน สู้โควิดเฉียด 2 ล้านล้านบาท ผ่านการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เปิดช่อง "คลัง" กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมตุนงบไว้กระตุ้นเศรษฐกิจหลัง "โควิด-19" สงบ ยอมรับ ดันหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 57% ในปีหน้า เล็งขอขยับเพดานขึ้น ขณะธปท.งัด 4 มาตรการดูแลภาคธุรกิจ สั่งแบงก์พักหนี้ให้ "เอสเอ็มอี" ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ทุกราย นาน 6 เดือน พร้อมลุยออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ วงเงิน 9 แสนล้านบาท ใช้ปล่อย "ซอฟท์โลน" และดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน
- กกร. ถกวันนี้ (8 เม.ย.) จ่อหั่นเป้าหมายจีดีพีและส่งออกปี 2563 อีกระลอกหลังโควิด-19 ทั่วโลก ยังไม่นิ่ง พร้อมเช็กมาตรการต่างๆ ภาครัฐหวังเสนอแนวทางดูแลเพิ่มเติม มองเคอร์ฟิว 24 ชม.ต้องไม่กระทบภาคผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และขนส่ง ขณะที่ สรท.หั่นเป้าส่งออกปีนี้ติดลบ 8% และอาจเสี่ยงตัวเลขติดลบ 2 หลัก
- จบไตรมาส 1 ปี 2563 ของตลาดหุ้นไทย ด้วยการที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝ่ายขายสุทธิอีก 1.15 แสนล้านบาท ต่อเนื่องจากปีก่อนทั้งปี ซึ่งขายสุทธิ 4.52 หมื่นล้านบาท รวม 3 ปีที่ผ่านมา ขายสุทธิไป 4.83 แสนล้านบาท ส่วนเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิไป 6 พันล้านบาท
- น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมี.ค.63 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลบ 0.54% หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือนนับจากเดือน ม.ค.59 สาเหตุเงินเฟ้อหดตัวสูงมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงานที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน หรือลดลง 11.14% ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลก ระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือน มี.ค.63
- รายงานข่าวจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า ได้ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารกรุงเทพสู่ระดับทริปเปิ้ลบี จากทริปเปิ้ลบีบวก และปรับลดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็นทริปเปิ้ล บีจากทริปเปิ้ลบีบวก และลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นดับเบิ้ลบีบวกจากทริปเปิ้ลบี โดยฟิทช์ฯ มองว่าธนาคารกรุงเทพมีความท้าทายจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายในวงกว้าง อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า และฐานะเงินกองทุนอ่อนแอลงหลังเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซีย อาจเจอความเสี่ยงของกำไรที่มากขึ้น
*หุ้นเด่นวันนี้
- CPALL (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 88 บาท ได้ Sentiment บวกภาครัฐเสนอให้เพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาทต่อราย เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านรายเป็น 9 ล้านราย และขยายเวลาการเยียวยาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน และ CPALL ยังได้ประโยชน์จากมาตรการคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า 21 ล้านครัวเรือนมูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนเริ่มทยอยได้รับเงินคืนแล้ว
- BGRIM (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 50 บาท แม้ราคาหุ้นวานนี้จะปรับขึ้นมาแต่ PE ปีนี้ยังอยู่ที่ 33 เท่าและปีหน้า 28 เท่า ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง 2 ปีนี้ที่คาดโตสูงเฉลี่ย 36% ต่อปี ส่วนการระบาดของ โควิด-19 ยังไม่กระทบลูกค้าอุตสาหกรรม (25% ของรายได้) และในช่วงที่เหลือของปี มีลูกค้าทำสัญญาจะซื้อไฟเพิ่มอีก 31MW เรื่องแล้งเชื่อว่าจะจัดการได้เพราะน้ำที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นน้ำ Recycle ในนิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรีและระยอง มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่วนการที่รัฐลดค่าไฟฟ้า 3% ชดเชยได้จากต้นทุนค่าก๊าซที่ลดลง