แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าการเจรจากับกลุ่มบีบีเอสเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณ พ.ค. 63
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ระหว่างนี้กลุ่มบีบีเอสเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีความคืบหน้าไปได้ดี คาดว่าจะใกล้เสร็จสิ้นแล้ว โดยจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากนั้นต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบเอกสารสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนจึงจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติ และจะลงนามในสัญญาได้ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือน พ.ค.นี้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังลงนามแล้ว กลุ่มบีบีเอส จะดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯในระยะแรก ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี โดยงานก่อสร้างเฟสแรกจะใช้งบลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ที่รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน/ปี เพิ่มจากที่ทีโออาร์ระบุไว้ 12 ล้านคน/ปี รวมถึงระบบเชื่อมต่อภายในอาคารผู้โดยสาร นอกจากนี้จะเป็นการพัฒนาเมืองการบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเอกชนสามารถเลือกดำเนินการกิจกรรมได้เอง ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ระบุไว้ในทีโออาร์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าโครงการยังคงเป็นไปตามแผน
ทั้งนี้ กำหนดไว้จะเปิดบริการส่วนแรกในปีที่ 3 ซึ่งกลุ่มบีบีเอสจะเริ่มส่งผลตอบแทนให้รัฐ โดยวงเงินที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐไป 3 แสนล้านบาท (NPV) จะจ่ายให้รัฐภายใน 50 ปีหรือตามระยะเวลาสัมปทาน
อนึ่ง กิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นการร่วมทุนระหว่าง BTS ถือหุ้น 35% กับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้น 45%และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกต่อกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีวงเงิน การลงทุนราว 2.9 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และเขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งรับผิดชอบการบริหารจัดการ และพัฒนาพื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ภายในโครงการ