นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้รัฐบาลอาจจะใช้มาตรการป้องกันที่มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลประกาศข้อกำหนดเพิ่มเติมในการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการห้ามบุคคลใดทั่วประเทศออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมงนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯยืนยันว่าจะไม่ปิดการซื้อขายแน่นอน แต่อาจจำเป็นต้องปรับระยะเวลาการซื้อขายให้มีความเหมาะสม ยกเว้นแต่ว่าระบบของธนาคารพาณิชย์ปิดลงทำให้ไม่สามารถโอนเงินระหว่างกันได้ ก็จะเป็นปัจจัยเดียวที่การซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯจะปิดลง
สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ดูแลความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน (ซีลลิ่ง-ฟลอร์) รวมถึงปรับเกณฑ์มาตรการหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าเพียงพอ โดยทาง ตลท. ได้ขอระยะเวลาการใช้มาตรการต่าง ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) ไปจนถึงช่วงเดือน มิ.ย. และทาง ตลท. ยังมีมาตรการอื่น ๆ รองรับเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลงและมีความชัดเจน ตลท. สามารถที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวก่อนได้
"ตอนนี้เรายังเห็นว่าความไม่แน่นอนทั่วโลกยังมากอยู่ โดยจะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับ ขึ้น ลง 5% บ้าง 10% บ้าง ซึ่งไม่เคยเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น เราก็ต้องมาติดตามว่าหากมีความผันผวนแบบนี้อยู่ เราก็ยังคงจำเป็นที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ อยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามปัจจัยต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะปกติถึงจะหยุดใช้มาตรการต่าง ๆ และอยากให้รู้ว่าพวกเราดูแลตลาดอย่างใกล้ชิด"นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 1-7 เม.ย. ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ 7.9% ถือว่าดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมา รวมไปถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก หลังจากที่ราคาได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยตลาดคาดว่าสหรัฐ , ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย จะสามารถเจรจากันเพื่อหาข้อตกลงทิศทางราคาน้ำมันได้ รวมไปถึงการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอิตาลี ที่ดีขึ้น ขณะที่ประเทศจีนได้ประกาศเปิดเมืองอู่ฮั่น แล้ว ทำให้สถานการณ์ภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยให้ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นไทยน้อยลง ซึ่งดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกันมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจากภาครัฐบาลช่วยคุมให้การแพร่ระบาดของไวรัสมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสใหม่ที่ปรับตัวลดลงมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้นักลงทุนยังให้มูลค่าหุ้นที่มากขึ้นในกลุ่ม Healthcare , Consumer , การเกษตร ,อาหาร และ ประกัน เป็นต้น เนื่องจากในกลุ่มดังกล่าวจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สำหรับสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ 27.6% ลดลงจากช่วงเวลาปกติที่ 29-30% โดยมองว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายก็จะยังมีความผันผวนของทิศทางของการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางของการไหลเข้าออกของเงินในปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วย
ส่วนมาตรการต่างๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวเพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ หรือ Investment Grade ครบกำหนดชำระในช่วงปี 63-64 มองว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ว่าบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพต่าง ๆ จะสามารถ Roll Over เงินกู้ที่มาจากตราสารหนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเหล่านี้หมดไป และดำเนินกิจการ สร้างผลกำไรให้บริษัทสามารถนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ได้ตามปกติ
สำหรับกรณีกองทุนเพื่อการออม (SSF) มองว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนแน่นอน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่เข้ามาและให้ผลประโยชน์ต่อนักลงทุน โดยนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนระยะยาว ต้องการออมเงินระยะยาว เป็นการสร้างฐานนักลงทุนกลุ่มใหม่ โดยหากดัชนีมีการปรับตัวลดลงก็จะส่งผลให้มีความต้องการของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้น