GLOBLEX มอง SET รับปัจจัยบวกจากรัฐอัดงบแก้โควิด-เริ่มจ่ายเงินเยียวยา ให้กรอบช่วงสั้น 1,160-1,250 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 8, 2020 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GLOBLEX) ประเมินว่าภาพรวมของประเทศเริ่มส่งสัญญาณเชิงบวก หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอนุมัติแพ็คเกจ ระยะ 3 เพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว พร้อมโยกงบปี 2563 เติมงบกลาง รวมวงเงินราว 2.7 -3 ล้านล้านบาท พร้อมให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงินรวม 9 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ประกอบกับ กระทรวงการคลัง เริ่มทยอยจ่ายเงินมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ขณะที่ด้านกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการรายงานเงินเฟ้อแผ่วในเดือน มี.ค.63 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หดตัว 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีกอน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัว 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายวิจัย ประเมินกรอบดัชนีเคลื่อนไหวในช่วงสั้นที่ระดับ 1,160 - 1,250 จุด

พร้อมกันนี้ ยังแนะจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) พลัสเพื่อหารือเรื่องการปรับลดการผลิตครั้งใหม่ และการเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 มี.ค.ที่ผ่านมา และสหรัฐรายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ.ซึ่งจะรู้ผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ส่วนวันที่ 10 เม.ย.จีนจะมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค. เช่นเดียวกับสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค. ซึ่งหากตัวเลขออกมาในเชิงบวกคาดว่าจะเป็นตัวหนุนให้ดัชนีฟื้นตัวได้

"ด้านปัจจัยลบที่คาดว่าจะมีผลต่อการลงทุนในระยะสั้น อาทิ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ WTI หลังจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรตกลงกันไม่ได้ เรื่องการปรับลดการผลิตครั้งใหม่และเลื่อนการประชุมจากเดิม 6 เม.ย.ไปเป็น 9 เม.ย.นี้ รวมทั้งตัวเลขการส่งออกที่ลดลง โดยสภาผู้ส่งออกปรับลดคาดการส่งออกปีนี้ -8% และประเมินว่ามีโอกาสหดตัวถึงสองหลัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกและประเทศไทยกระทบระบบโลจิสติกส์"

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก มองกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ โดยแนะนำให้ลงทุนโดยอ้างอิงกับหุ้นที่เป็นเป้าหมายของกองทุนรวมเพื่อการออมกองพิเศษ (SSFX) โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนแบบพิเศษซึ่งมีช่วงเวลาที่สามารถซื้อได้ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนนี้ เท่านั้น ดังนั้นฝ่ายวิจัย จึงแนะ 20 หุ้นเป้าหมาย SSFX ประกอบด้วย BJC, DTAC, SCC, TOA, ADVANC, BPP, SGP, JAS, RATCH, IRPC, STA, TRUE, CPALL, INTUCH, GULF, CPF, SPALI, TASCO, TTW และ GPSC

ส่วนราคาทองคำปรับตัวลง 10 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสัปดาห์นี้คาดว่าทองคำจะผันผวนต่อ โดยได้รับแรงหนุนหลักจากกองทุน SPDR ที่กลับเข้ามาซื้อทองคำกว่า 19.9 ตัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการ ยอดจ้างงาน และอัตราว่างงานอ่อนแอ หนุนราคาทองคำเพิ่มเติม โดยปัจจัยหลักที่หนุนทองคำคือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัด มองกรอบทองคำสัปดาห์นี้ที่ 1,630 - 1,700 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นทองคำไทย 25,260-26,450 บาทต่อบาททองคำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ