นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเตรียมวงเงินสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามกำหนดหลังจากได้เสนอขายไปในช่วงปี 62 ได้แก่ หุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุ 1 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.75% ต่อปี ที่เสนอขายไปเมื่อเดือน มิ.ย.62 และหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% เสนอขายไปเมื่อเดือนก.ย.62 ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้
ขณะที่ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (บีเอสเอฟ) ภายใต้วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) สามารถนำเงินไปใช้คืนหนี้ หรือต่ออายุตราสารหนี้ได้ ถือเป็นมาตรการพิเศษที่จะเข้ามารองรับ ซึ่งบริษัทก็อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ที่ BBB- ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสองชุด
ด้านแผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,494.12 ล้านบาท ตามการรับรู้การจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวม 450 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันก็เตรียม COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มอีก 2-3 เมกะวัตต์ในปีนี้
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จังหวัดฟูเยี้ยน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม XT1 – XT2 จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 99.216 เมกะวัตต์ บริษัทได้ดำเนินการขายโรงไฟฟ้าดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4/62 และบันทึกเป็นกำไรพิเศษจากการขายโรงไฟฟ้าเข้ามาแล้ว จำนวน 543.01 ล้านบาท โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนามต่อ จำนวน 2 โครงการ แบ่งเป็น กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ และ 172 เมกะวัตต์ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ บริษัทได้หันมาดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อชดเชยธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยคาดจะเริ่มรับออเดอร์ผลิตกล่องให้กับเคอร์รี่ในสัปดาห์หน้า รวมถึงยังมีออเดอร์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มอีกจำนวนมาก ซึ่งบริษัทมองว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคต
"เราได้มองไปในระยะยาว ถึงธุรกิจที่น่าจะอยู่รอดได้ในอนาคต ซึ่งเราเล็งเห็นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่าธุรกิจโลจิสติกส์มีการขยายตัวสูงมาก เราจึงมีการลงทุนเครื่องใหม่เพื่อรองรับการผลิตกล่อง และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อชดเชยธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ค่อย ๆ หายไป"นายยุทธ กล่าว