ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บล.ธนชาต เป็นระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากเดิมที่ระดับ "A+" ภายใต้ "เครดิตพินิจ" "Negative" หรือ "ลบ" โดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ก่อนการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) ในปี 2562 ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ TCAP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 51% ด้วย
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนสถานะทางการตลาดที่แข็งแรงและมั่นคงของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ไม่เสื่อมถอย ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ รวมถึงการมีสภาพคล่องที่เพียงพอและเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการมีโครงสร้างรายได้ที่ไม่ค่อยหลากหลายเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ TCAP การพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทนั้นยังครอบคลุมไปถึงการเสริมความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งอีกด้วย ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งนั้น บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ TCAP เนื่องจากรายได้ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อรายได้ของ TCAP อย่างไรก็ตาม ระดับการเสริมความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตนั้นลดน้อยถอยลงไปจากเดิมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยก่อนหน้านี้ อันดับเครดิตของบริษัทมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ TBANK เป็นอย่างมากจากการที่ธนาคารถือหุ้น 100% ในบริษัทและให้การสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินแก่บริษัท แต่ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น อันดับเครดิตของบริษัทจึงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ TCAP แทน
สถานะทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งจากลูกค้าสถาบัน ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในสัดส่วนถึง 10%-12% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรดาบริษัทที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง งานวิจัยและฝ่ายขายที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าสถาบันเอาไว้ได้ โดยฐานลูกค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ค่อนข้างคงที่มาโดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว บริษัทยังคงอยู่ในอันดับที่ 5 หรือมีส่วนแบ่งคิดเป็น 4.6% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562
การกระจายตัวของแหล่งรายได้อยู่ในระดับปานกลาง บริษัทมีการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นแหล่งรายได้หลักในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทมีความผันผวนจากภาวะตลาดได้ในระดับหนึ่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทคิดเป็น 65% ของรายได้รวม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 54% รายได้จากแหล่งอื่นของบริษัทยังประกอบไปด้วย ดอกเบี้ยจากบริการเงินกู้ยืมสำหรับซื้อหลักทรัพย์ในสัดส่วน 15% กำไรจากเงินลงทุนในสัดส่วน 4% และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอีก 3% ในระยะยาวบริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายผลิตภัณฑ์ด้านตราสารอนุพันธ์และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะช่วยให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวมากยิ่งขึ้น
การบริหารต้นทุนเชิงรุก ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังดำรงความสามารถในการทำกำไรต่อไปได้ในระยะปานกลาง โดยในด้านของต้นทุนนั้น บริษัทมีแผนจะลดจำนวนสาขาลงอีก ส่วนในด้านของรายได้นั้น บริษัทมีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้มากขึ้นจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม เช่น บริการบริหารความมั่งคั่ง แม้ว่ารายได้นั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมก็ตาม ทั้งนี้ กลยุทธ์การควบคุมต้นทุนส่งผลดีต่อบริษัทอย่างเห็นได้ชัดในช่วงตลาดขาลง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดลดลง นั้น กำไรก่อนหักภาษี (ก่อนรายได้พิเศษ) ของบริษัทลดลง 56% ซึ่งเป็นระดับการลดลงที่ต่ำกว่าของอุตสาหกรรมที่ระดับ 65% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิที่ระดับ 61% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหากรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 72%
ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ในระดับที่บริหารจัดการได้เนื่องจากบริษัทมีพยายามรักษาระดับเงินลงทุนให้อยู่ในจำนวนที่ไม่สูงมาก อีกทั้งการลงทุนโดยบัญชีของบริษัทเองก็ใช้กลยุทธ์ที่ไม่ผันผวนไปตามตลาดโดยเน้นที่การป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเสนอขายเท่านั้น เงินลงทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท (19% ของสินทรัพย์รวม) หลังจากที่บริษัทได้ขายเงินลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องออกไปให้แก่ TBANK ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มธนชาต โดยการขายเงินลงทุนดังกล่าวทำกำไรจำนวน 1.6 พันล้านบาทให้แก่บริษัท ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางจากการมีนโยบายการควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัดกุม โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่จำนวน 3.1 พันล้านบาท ลดลงจาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2561 และคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 4.9% ทั้งนี้ บริษัทมีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คิดเป็น 0.9 เท่าของส่วนทุนและไม่มีภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นสำหรับหนี้สูญในปี 2562 อีกด้วย
สถานะสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยวัดจากอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพรวม ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพรวมซึ่งวัดจากแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่มีอยู่เปรียบเทียบกับความจำเป็นในการใช้เงินทุนที่มีเสถียรภาพนั้นอยู่ที่ระดับ 151.4% อีกทั้งบริษัทยังมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องชั่วคราวได้เมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ อัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องซึ่งคำนวณจากแหล่งที่มาของสภาพคล่องเทียบกับความต้องการในการใช้สภาพคล่องของบริษัทก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเพียงพอที่ 0.8 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.3 เท่าในปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องจากธนาคารธนชาตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจะเปลี่ยนไป โดยบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารธนชาตจำนวน 5 พันล้านบาท ซึ่ง ณ เดือนมกราคม 2563 วงเงินดังกล่าวจำนวน 94% นั้นบริษัทยังไม่ได้เบิกมาใช้
ฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้ง ยังคาดด้วยว่าเงินทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 20% ต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งบ่งบอกว่าบริษัทจะยังคงมีฐานทุนที่แข็งแรงเพียงพอรองรับการขาดทุนที่เหนือความคาดหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านเครดิต รวมถึงความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ และความเสี่ยงด้านการดำเนินงานของบริษัท หลังจากที่ TBANK ได้เพิ่มทุนจำนวน 1.5 พันล้านบาทให้แก่บริษัทในปี 2562 ก่อนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 21.4% ในปี 2562 จากระดับ 7.7% ในปี 2561 ทั้งนี้ ฐานทุนที่แข็งแกร่งเมื่อรวมกับความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแรงซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 5 ปีของบริษัทที่ระดับ 4.3% นั้นส่งผลทำให้บริษัทมีเกณฑ์ของฐานทุน ตลอดจนการก่อหนี้ และกำไรอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าคุณภาพรายได้ของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลางเนื่องจากรายได้ประจำจากค่าธรรมเนียมและบริการนั้นยังอยู่ในเกณฑ์จำกัด
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้
ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%
อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.14%
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 47%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้โดยที่ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรจะยังคงอยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งแนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งเป็นมาตรวัดความแข็งแรงของฐานทุนให้อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 15% ได้ในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 24% อย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งของส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดต่ำกว่า 15% นานอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกัน หรือบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง