ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร ML เป็น "BB+" จาก "BBB-" และประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม "Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 10, 2020 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไมด้า ลิสซิ่ง (ML) เป็นระดับ "BB+" จากเดิมที่ระดับ "BBB-" และยังประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตของบริษัทด้วย การลดอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากการลดอันดับเครดิตของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 46.98% ของบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของไมด้าแอสเซ็ทซึ่งสะท้อนคุณภาพเครดิตโดยรวมของกลุ่มไมด้า

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคงของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกจำกัดโดยสถานะทางการตลาดของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลางและคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง แม้ว่าธุรกิจและสถานะฐานทุนของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 แต่ "เครดิตพินิจ" ที่ประกาศในครั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมซึ่งบริษัทมีโอกาสที่จะต้องเผชิญเนื่องจากสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดตราสารหนี้

เครดิตพินิจ

บริษัทได้รับการประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ตามประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ของ บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ฐานทุนที่แข็งแรงและระดับหนี้ที่ต่ำ ทริสเรทติ้งพิจารณาระดับฐานทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับที่แข็งแรงมากจากการมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 59.7% เทียบกับระดับ 51.9% ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ ระดับฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งกว่าผู้ประกอบการอื่นและอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับคุณภาพความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว

ในเวลาเดียวกัน ระดับการก่อหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ระดับ 0.95 เท่า ณ สิ้นปี 2562 โดยปรับดีขึ้นจาก 1.1 เท่า ณ สิ้นปี 2561 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าตามเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในระยะปานกลางอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การขยายสินเชื่อที่ชะลอตัวลงท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นโยบายการจ่ายเงินปันผลระดับต่ำ และความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะลดลงในปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม

สถานะทางการตลาดอยู่ในระดับปานกลาง อันดับเครดิตของบริษัทได้รับแรงกดดันจากสถานะทางการตลาดที่อยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทให้สินเชื่อเพียงเฉพาะตลาดซึ่งบริษัทมีโอกาสและมีความชำนาญโดยเน้นไปที่ตลาดรถกระบะใช้แล้ว สินเชื่อส่วนใหญ่จะมีขนาดตั้งแต่ 50,000-300,000 บาท ต่อสัญญา สินเชื่อคงค้างของบริษัทมีจำนวน 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 โดยคาดการณ์ว่าสินเชื่อรวมของบริษัทน่าจะขยายตัวไปอย่างช้าๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินทุนที่จำกัด

ความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อคุณภาพสินทรัพย์ คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ถดถอยลงมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงอีกในปี 2563 จากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วันต่อสินเชื่อรวม) ปรับดีขึ้นเป็น 5.3% ในปี 2562 จาก 6% ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปัจจุบันนี้ก็ยังสูงกว่าระดับ 3%-4% ในอดีตซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทริสเรทติ้งมีความกังวล อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกหากการแพร่ระบาดของไวรัสยังคงยืดเยื้อยาวนาน แต่แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะอ่อนแอลง ทริสเรทติ้งยังมีมุมมองว่าระดับสำรองในปัจจุบันตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS 9 ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับที่เพียงพอ

ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะลดลงในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าและหลังจากนั้นจะกลับฟื้นมาสู่ระดับปัจจุบัน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2% เล็กน้อยในช่วงปี 2563-2564 จาก 2.7% ในปี 2562 และหลังจากนั้น จะกลับมาอยู่ที่ระดับเหนือกว่า 3% ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 2.5% ในปี 2563-2565 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่มากกว่า 3.5% หลังจากปี 2565 ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงน่าจะเป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทในปี 2562 ลดลงต่ำลงกว่าระดับปกติที่บริษัทเคยทำได้ที่ 10%-11% ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงต่อไปอีกในปี 2563-2564 แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะลดลงซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัท ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสแคบลงนั้นเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่บริษัทอาจจะมีให้แก่ลูกหนี้บางส่วนและต้นทุนทางการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าในระยะยาวนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทจะสามารถฟื้นกลับมาสู่ในระดับปกติได้เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าแรงกดดันด้านสภาพคล่องในปัจจุบันของตลาดตราสารหนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมสำหรับบริษัท จากการประมาณการของบริษัท กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายสำหรับปีปัจจุบันนี้มีความสอดคล้องกัน กระแสเงินสดรับจากการชำระเงินค่างวดของลูกหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 930 ล้านบาทจากเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 160 ล้านบาทในเดือนกันยายนและอีก 770 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดรับของบริษัทอาจจะลดทอนลงหากลูกหนี้ของบริษัทเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินหรือมีการขอเข้ามาตรการช่วยเหลือเพื่อพักชำระหนี้ แต่เมื่อมองในด้านบวก บริษัทก็ยังได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินโดยใช้พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อเป็นหลักประกันซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของบริษัทลงไปได้ในระดับหนึ่ง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงระยะเวลาในปี 2563-2565 มีดังนี้

สินเชื่อใหม่จะหดตัวลงในปี 2563 และหลังจากนั้นจะขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปี

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 9%-10%

ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ในช่วง 2.0%-2.5%

อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับประมาณ 60%

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 55%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ