นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) เปิดเผยว่า บริษัทยังมีแนวคิดที่จะเดินหน้าหาช่องทางการขยายธุรกิจที่ต่อยอดธุรกิจเดิมของกลุ่ม SHIN แม้ว่าบริษัทจะมีแผนขายกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจมีเดียออกไปก็ตาม
ปัจจุบัน SHIN มีเงินสดในมืออยู่ราว 1.5 พันล้านบาทที่สามารถใช้ในการลงทุนในอนาคต
นายสมประสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาขาย บริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ซึ่ง SHIN ถือหุ้น 100% แต่จะขายออกไปสัดส่วนเท่าใดขึ้นอยู่กับราคาเสนอขาย แต่เชื่อว่าจะสามารถสรุปได้ภายในปีนี้
"แม้ว่าเราจะล้มเหลวจากการทำธุรกิจอื่น อย่าง ไทยแอร์เอเชีย และ แคปปิตอล โอเค แต่เรายังมองหาธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต ทั้งในรูปแบบการร่วมทุน หรือการสร้างขึ้นมาเอง แต่ต่อไปก็ต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น แต่ยอมรับว่า บางปัญหาที่เกิดขึ้นมันนอกเหนือจากการควบคุม เช่น กฎของทางการ ก็ส่งผลต่อธุรกิจ แต่เราก็ยังเดินทางทำธุรกิจ โดยยังคงเป็นโฮลดิ้งคอมปานี"นายสมประสงค์กล่าว
ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาเรื่องฟรีโฟลตต่ำ ขณะนี้ได้รับการอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนด พ.ค. 51 โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว และบริษัทยังคงต้องการดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป โดยในเบื้องต้น กองทุนเทมาเส็กพร้อมจะขายหุ้น SHIN ออกมาบางส่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา
**ยังไม่มีนโยบายขายหุ้น SATTEL
สำหรับธุรกิจดาวเทียม โดยการบริหารภายใต้บมจ.ชินแซทเทิลไลท์(SATTEL) ซึ่งถือหุ้น 40% นายสมประสงค์ กล่าวยืนยันว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยสัญชาติไทยถือหุ้น 58% แสดงว่าไม่ได้เป็นบริษัทเป็นของคนไทย และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะต้องขายออกหรือไม่
"ชินแซทไลท์ ยังเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่ม SHIN โดยสร้างรายได้ต่อปีๆละประมาณ 5 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าจะขายหุ้น ชินแซทไลท์ ออกไปก็ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริษัท SHIN ยังไม่มีนโยบายขายหุ้น SATTEL ออกไป"นายสมประสงค์กล่าว
ทั้งนี้ รายได้ของ SHIN ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากเงินปันผลกิจการที่บริษัทถือหุ้นอยู่ โดย ADVANC จ่ายเงินปันผลให้สูงสุด
**เชื่อปัญหาสัมปทาน ADVANC ยังมีเวลาแก้ไข
สำหรับปัญหาสัญญาสัมปทานของบมจ.แอ็ดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) นายสมประสงค์ กล่าวว่า บริษัทยังยืนยันดำเนินธุรกิจตามสัญญาสัมปทาน การแก้ไขสัญญาตามที่กฎษฎีกาตีความมายังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)นั้น เชื่อว่าหากการแก้ไขไม่ทันชุดนี้ ก็จะมีการดำเนินการต่อในรัฐบาลหน้า โดยขณะนี้ยังมีเวลาดำเนินการภายใน 45 วันในการแก้ไขดังกล่าว
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งผลการตีความสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับมายังกระทรวงไอซีที แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ไอซีทีเสนอให้มีการวินิจฉัยว่า สัญญาสัมปทานที่ทำกันไว้ระหว่างรัฐกับเอกชนในอดีตถูกต้องหรือไม่ พบว่าที่ผ่านมามีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2535
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--