"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (13-17 เมษายน 2563) จะพาคุณผู้ฟังมาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13 เมษายน 2563
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (7-10 เมษายน 2563) SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.8% ขณะที่ดัชนี SET100 เพิ่มขึ้น 8.4% และหุ้นกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มการเงินเพิ่มขึ้นถึง 22.6% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 17.3% และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 17%
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวขึ้นตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ตอบรับกับปัจจัยบวกกรณีที่รัฐบาลของไทยจัดทำงบประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาทเพื่อดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะ 3 เพื่อบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่มีวงเงินกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นชนวนผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยพลิกกลับมายืนเหนือ 1,200 จุดได้อีกครั้ง
ปัจจุบันความรู้สึกของนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มคลายความกังวลการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทยหลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง แม้ว่าจะสวนทางกับจำนวนยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ขณะนี้ยังเพิ่มขึ้น เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยรอบสัปดาห์ ยังมีโอกาสยืนเหนือ 1,200 จุดต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับมีลุ้นขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,300 จุดได้เช่นกัน ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อัrเดทเมื่อวันที่ 12 เมษายน พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 33 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,551 ราย จากทั้งหมดรวม 68 จังหวัด ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้วรวมทั้งสิ้น 1,218 ราย ขณะที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 รายรวมเป็นผู้เสียชีวิตสะสมในไทยทั้งสิ้น 38 ราย
ด้านยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในวันที่ 12 เมษายนพบว่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทะลุ 1.8 ล้านราย ล่าสุดประเทศสหรัฐมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลกทะลุ 20,000 ราย แซงหน้าประเทศอิตาลี และกลายเป็นประเทศแรกที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 รายในวันเดียว
ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานข้อมูลล่าสุด (13 เมษายน) ว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,844,410 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 113,948 ราย สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลกที่ 554,226 ราย รองลงมาคือสเปน 166,127 ราย และอิตาลี 156,363 ราย
นอกจากนี้ สหรัฐยังกลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลกแซงหน้าอิตาลี โดยล่าสุดอยู่ที่ 21,733 ราย รองลงมาคืออิตาลี 19,899 ราย, สเปน 17,113 ราย และฝรั่งเศส 14,393 ราย สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วนั้น ยอดรวมทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 421,497 ราย โดยจีนมีผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 มากที่สุดคือ 77,956 ราย รองลงมาคือสเปน 62,391ราย และเยอรมนี 60,300 ราย
นักวิเคราะห์ ประเมินว่าผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ในรอบนี้กำลังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่า GDP โลกที่ต้องสูญเสียไป แต่นักลงทุนยังคาดหวังมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของประเทศต่างๆ
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ นักวิเคราะห์ เฝ้าจับตาในสัปดาห์นี้คือการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรก นำร่องโดยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเลื่อนรายงานผลประกอบการเป็นสัปดาห์ถัดไปหรือไม่ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มรายงานผลประกอบการในต้นสัปดาห์นี้
"แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนปีนี้อาจลดลงถึง 20% แต่ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานเป้าหมาย SET INDEX ปี 2563 อยู่ที่ 1,242 จุด เป็นหนึ่งในเหตุผลทางปัจจัยพื้นฐานช่วยประคองดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถแกว่งตัวยืนเหนือ 1,200 จุดได้ในช่วงสั้น"นายมงคล กล่าว
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ โดยประเมินว่าแม้ OPEC จะลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาร์เรล/วัน แต่คงไม่มีผลบวกต่อราคาน้ำมันมากนัก เพราะปัญหาอยู่ฝั่ง demand ที่หายไปมากกว่า
ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นกว่า 5% ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเช้านี้ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน
ณ เวลา 07.48 น.ตามเวลาไทยในวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือน พ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ปรับตัวขึ้น 1.17 ดอลลาร์ หรือ 5.17% แตะที่ระดับ 23.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัส ได้บรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการประชุมฉุกเฉินรอบที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ ยังมีมติปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือน ก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 63 และจะปรับลด 6 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.64 ไปจนถึงเดือนเม.ย.65
มติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมฉุกเฉินในวันที่ 12 เม.ย.และนับเป็นการประชุมรอบที่ 2 หลังจากที่โอเปกพลัสได้จัดการประชุมเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในการประชุมวันดังกล่าวที่ประชุมได้ข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.-มิ.ย. แต่ขณะนั้นเม็กซิโกปฏิเสธจะทำตามข้อเรียกร้องของโอเปกพลัสที่ต้องการให้ลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ เม็กซิโกยินยอมที่จะปรับลดกำลังการผลิต 100,000 บาร์เรล/วัน
ทั้งนี้ การประกาศลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสมีเป้าหมายที่จะสกัดการร่วงลงของราคาน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ทรุดตัวลงตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงทั่วโลก อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ที่ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกชุดใหม่ของ IMF ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตและแนวโน้มธุรกิจจากเฟดนิวยอร์กและเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
https://youtu.be/4EyZXv4lqbI