โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) แม้ภาพรวมผลประกอบการปีนี้แนวโน้มอ่อนตัวทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่นับว่าดีกว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์โดยรวม จากแผนการดำเนินธุรกิจที่เน้นโครงการแนวราบเป็นหลักสอดคล้องกับภาวะตลาด โดยเชื่อว่า LH จะได้รับผลกระทบของมาตรการ LTV และสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่ม
ขณะที่มองว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ก็จะเห็นการฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากมีการกระจายพอร์ตอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีสินทรัพย์รอขายในอเมริกาตามแผนการดำเนินงาน ทำให้คาดว่าผลประกอบการของ LH จะลดลงจากปีก่อนไม่มาก หรืออาจทำได้ในระดับทรงตัวจากปีก่อน
นอกจากนี้ยังมองว่าปัจจุบันราคาหุ้นยังมี upside อีกมาก ประกอบกับคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yeild) ในปีนี้ที่ระดับสูงราว 7-9.9% ทำให้มีความน่าสนใจในการลงทุน
พักเที่ยงหุ้น LH อยู่ที่ 7.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท หรือ 0.69% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.15%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กสิกรไทย ซื้อ 9.50 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 8.60 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 10.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 11.20 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 10.40 ทรีนีตี้ ซื้อ 11.30
นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า LH ถือเป็นหุ้น Top Pick ของกสิกรไทย ณ ตอนนี้ในเชิง performance เนื่องจากเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบเป็นหลัก ซึ่งมีการก่อสร้างโครงการตามความต้องการที่เกิดขึ้น และปัจจุบันภาพรวมของโครงการแนวราบมีโครงการคงเหลือพร้อมขาย (Inventory) ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียม
ขณะที่ผลกระทบของมาตรการบังคับใช้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ตั้งแต่ปีที่แล้ว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์โดยรวมติดลบ อย่างไรก็ตาม โครงการแนวราบของ LH ส่วนมากเป็น "real demand" ที่โอนได้เร็ว และคาดว่ายอดขายคอนโดมิเนียมของ LH จะติดลบไม่มาก ทำให้มองว่ากลยุทธ์ของ LH ทั้งหมดสอดคล้องกับสถานการณ์และคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาพรวมของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ มองว่า portfolio ของ LH มีสมดุลค่อนข้างดีจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 พัทยา และโรงแรมต่าง ๆ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น ซึ่งหากสามารถเปิดทำการได้จะฟื้นตัวและกลับมาแข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาสู่ระดับปกติใน 2-3 เดือน
สำหรับผลประกอบการปีนี้คาดว่าจะมีกำไรอยู่ในระดับ 7.3 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในประมาณการนี้ยังไม่รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาในแผน เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี ผลประกอบการปีก่อนที่ 1 หมื่นล้านบาท รวมกำไรจากการขายทรัพย์สินที่สหรัฐอเมริการาว 2 พันล้านบาท ซึ่งหากคิดเฉพาะกำไรปกติจากการดำเนินธุรกิจ (core profit) ก็ยังถือว่าทรงตัวจากปีก่อนที่ราว 8 พันล้านบาท
นายสรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำหนดราคาเป้าหมายของ LH ปีนี้ไว้ที่ 9.50 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันถือว่ายังมี upside กว่า 30% ประกอบกับเงินปันผลเมื่อเทียบกับคาดการณ์ผลประกอบการที่ 7.3 พันล้านบาท จะมี Dividend Yeild ราว 7% ถือว่ามีราคาที่สมเหตุสมผล และ upside ค่อนข้างมาก
ด้านบทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกต่อธุรกิจหลักของ LH เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่มีความชำนาญและเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจแนวราบใน Segment ระดับกลาง-บน จึงคาดได้รับผลกระทบจากการแข่งขันและมาตรการ LTV ที่น้อยกว่ากลุ่ม
พร้อมกันนี้คาดกำไรสุทธิปี 63 ที่ 8.6 พันล้านบาท ลดลง 14.3% จากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม โดยประเมินราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 63 ของ LH ที่ 8.60 บาท (SOTP Discount factor ที่ 30%) เริ่มต้นคำแนะนำ "ซื้อ" พร้อมคาดเงินปันผลปี 63 ที่ 0.69 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield สูงถึง 9.9%
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ LH ตั้งเป้า Presale ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปีก่อน และเป้าการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.9% จากปีก่อน รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ เป็นโครงการแนวราบทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันคาดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นปัจจัยลบสำคัญกดดันกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 63 อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่ที่เปิดตัวไปแล้วในช่วงเดือน ก.พ.63 จำนวน 2 โครงการ ได้การตอบรับที่ดีกว่ากลุ่ม (Take-up rate สำหรับโครงการ Indy-Bangna ที่ราว 50%) แสดงถึงกำลังซื้อ และ Brand Loyalty ที่มีต่อ LH ทำให้คาดว่าสามารถคงอัตรากำไรขั้นต้นของปี 63 ได้ใกล้เคียงกับปี 62 ต่างกับกลุ่มที่คาดเฉลี่ยลดลงราว 200-300 bps เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก แต่ทาง LH เน้นการทำโครงการแนวราบเป็นหลัก ซึ่งตลาดแนวราบมีความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานมากกว่าตลาดคอนโดมิเนียม จึงมองบวกต่อแนวทางการขายของ LH
ล่าสุดทาง LH สามารถสร้างยอดจองช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ได้ 3 พันล้านบาท หรือราว 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน โดยที่มีโครงการใหม่เปิดตัวแค่ 2 โครงการ การเข้าเยี่ยมชมของลูกค้ายังอยู่ในระดับดี ขณะที่ LH มีแผนจะเปิดโครงการใหม่มากขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไป โดยเชื่อว่ายอดจองจะค่อย ๆ ดีขึ้น อัตราการจองต่อเดือนน่าจะไปถึงประมาณการอัตราการจองที่ 1.8 พันล้านบาทต่อเดือน หรือยอดจองแนวราบทั้งปีที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คำนึงถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้านคงไม่มากจึงประเมินยอดจองทรงตัว
ขณะเดียวกันคาดยอดโอนอสังหาริมทรัพย์อ่อนลง 2% ที่ 2.47 หมื่นล้านบาท โดยยอดขายรอโอน (Backlog) ปีนี้อยู่ที่ราว 4.6 พันล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 2.5 พันล้านบาท และคอนโดมิเนียมราว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากการโอนโครงการแนวราบที่ขายปีนี้ 1.98 หมื่นล้านบาท จากประมาณการยอดจองแนวราบ 2.2 หมื่นล้านบาท และคาดหมายการขายสต็อกโอนปีนี้เพียง 300-400 ล้านบาท
ขณะที่รายได้ค่าเช่าทรงตัวตามผลลบของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก คาดรายได้รวมลดลง 1% ขณะที่มาร์จิ้น อสังหาริมทรัพย์จะอ่อนลงเพราะโครงการคอนโดมิเนียมโอนปีนี้ไม่ได้มีมาร์จิ้นสูงเหมือนปีก่อน ส่วนมาร์จิ้นธุรกิจเช่าอ่อนลง เพราะรายได้ค่าบริหารโครงการที่ขายแล้ว (Center Point ทองหล่อ) มาร์จิ้นจะต่ำ ในเวลาเดียวกันเชื่อว่าการใช้งบการตลาดยังจำเป็นสำหรับการผลักดันยอดขายปีนี้
ด้านส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมอ่อนลงเล็กน้อยจาก บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) อย่างไรก็ดี คาดหมายกำไรจากการขายอาคารที่สหรัฐอเมริกาในปีนี้ราว 1.8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยประเมินกำไรสุทธิ 9.4 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะมาร์จิ้นที่อ่อนลง และบริษัทร่วมชะลอการเติบโต
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มกำไรไม่เติบโต แต่กลยุทธ์การทำธุรกิจสอดคล้องกับภาวะตลาด ขณะที่ประเมินเงินปันผลปี 63 ที่ 0.68 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield 8% ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำลง ขณะที่ P/E ล่าสุด 13 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 15 เท่า คงคำแนะนำ "ซื้อ"