นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วิลล่า คุณาลัย (KUN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของบริษัทยังเชื่อว่ายังสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากไตรมาส 1/63 ผลงานเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้ และในปัจจุบันมียอดจองเข้ามาในไตรมาส 2/63 นี้แล้วกว่า 150 ล้านบาท ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวภายในระยะเวลาที่เหลือมั่นใจได้ว่าครึ่งปีแรกของปีนี้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ตามที่ตั้งเป้าที่ไว้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลายได้อย่างชัดเจน และได้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้ บริษัทได้ใช้การวางกลยุทธ์แบบ Worst case scenario มาเป็นหลักคิด เพื่อวางรูปแบบการทำงานให้ชัดเจน และทุกๆคนในองค์กรมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรงกัน
ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่ารวมราว 150 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาจำนวนยอดผู้เข้าชมโครงการ (Walk In) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 63) มียอดผู้เข้าชมโครงการสูงขึ้น เป็นเพราะบริษัททำการตลาดในวงกว้างขึ้น รวมถึงการเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากที่ KUN ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ซึ่งนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 63 ยังมั่นใจทิศทางการดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยการเปิดโครงการใหม่ จำนวน 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2.3 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการ คุณาลัย บีกินส์ 2 เป็นทาวน์โฮม รวม 363 ยูนิต มูลค่า 800 ล้านบาท และโครงการคุณาลัย จอย 2 เป็นบ้านแฝด-บ้านเดี่ยว 2 ชั้น รวม 411 ยูนิต มูลค่า 1.5 พันล้านบาท
ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะเป็นโครงการที่สร้างเสร็จบางส่วนก่อนเปิดการขายอย่างเป็นทางการ และเป็นการเปิดต่อเนื่องจากโครงการที่ปิดการขายไปแล้วซึ่งเป็นโครงการขายดี โดยบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้เร็วขึ้นหลังการขาย แต่ในทางกลับกันหากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ บริษัทอาจจะพิจารณาการปรับเป้าหมาย และเลื่อนแผนการลงทุนออกไปเพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทฯ
"บริษัทได้เตรียมการเปิดโครงการรองรับงานโอนกรรมสิทธิ์ในอนาคต เพราะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใช้เวลา ในการสร้างสินค้านานกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้บริษัทจึงค่อยๆพัฒนาโครงการ เพื่อรองรับความต้องการที่จะกลับมาหลังสถานการณ์คลี่คลาย ขณะเดียวกันได้ปรับรูปแบบด้านสื่อให้เหมาะกับชีวิตแบบ social distance รวมถึงได้ปรับบ้านบางแบบ มาเป็นแบบ conventional ทำให้สามารถควบคุมระยะเวลาการก่อสร้างให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่มีได้ และบ้านบางแบบเป็น prefab เพื่อเร่งในกลุ่มสินค้าขายดี ขณะเดียวกันควบคุมค่าใช้จ่ายซึ่งทำมาโดยตลอด และระมัดระวังเรื่องสต๊อก รวมถึงรักษากระแสเงินสด ซึ่งได้จัดสรรเรื่องการเงินให้เพียงพอสำหรับ 1 ปี เพื่อที่จะผ่านพ้นวิกฤต และมุ่งมั่นจะใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพาองค์กรให้ผ่านจุดที่ยากที่สุด และสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้"นางประวีรัตน์ กล่าว