ศรีตรังโกลฟส์ฯ เตรียมขายหุ้น IPO ภายในปี 63 ระดมทุนขยายกำลังผลิต-ติดตั้งระบบ SAP-ชำระคืนหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 14, 2020 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) บริษัทในเครือ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนด้วยการเดินหน้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 444,780,000 หุ้น โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตถุงมือยาง ลงทุนติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ

ปัจจุบัน STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในไทยและรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 27,153 ล้านชิ้น/ปี จากโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง รวม 132 สายการผลิต และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นประมาณ 32,000 ล้านชิ้น/ปี ภายในปี 63 รวมทั้งยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของการผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Touch of Life’ สื่อถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่เป็นสัมผัสแรกในการช่วยปกป้องทุกชีวิต โดยใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ เลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ เช่น โรงงานสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรกที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001: 2015, โรงงานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous 2 ปีติดต่อกัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ และกลุ่ม STA ได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นน้ำยางข้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FSC ซึ่งเป็นองค์การจัดการด้านป่าไม้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้อย่างรับผิดชอบ

STGT แบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Glove) ประกอบด้วยถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง (Latex Powdered Glove) และถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง (Latex Powder Free Glove) และ 2. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางไนไตรล์ (Nitrile Glove) ที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ เพื่อใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกลุ่ม STA ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลกเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของโรงงานที่อยู่ในแหล่งเพาะปลูกยางพารา จึงสามารถจัดหาน้ำยางต้นทุนต่ำ รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในบางสายการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

ขณะที่ในปี 62 บริษัทจำหน่ายสินค้าในไทยและส่งออกกว่า 95 ประเทศทั่วโลก ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทบริษัทย่อย และกลุ่ม บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี (STA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ เช่น ศรีตรังโกลฟส์, SRI TRANG GLOVES, ซาโตรี่, I’M GLOVE ฯลฯ และรับจ้างผลิต (OEM) โดยผลประกอบการปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปี 61 และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียตะวันออก ทวีปเอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ ฯลฯ ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย หรือ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 62 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี จากปี 59 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้นต่อปี

"นอกจากปัจจัยการเติบโตจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์แล้ว คาดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบันที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการการใช้ถุงมือยางอีกด้วย"นางสาวจริญญา กล่าว

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า STGT มีทุนจดทะเบียน 1,434,780,000 บาท คิดเป็น 1,434,780,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท เป็นทุนชำระแล้ว 990,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 444,780,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 31% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ แบ่งเป็น 1. เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 432,780,000 หุ้น 2. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน STA และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 2,000,000 หุ้น 3. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 10,000,000 หุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวครั้งแรก ณ วัน IPO จำนวนไม่เกิน 4,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือจำนวน 6,000,000 หุ้นจะถูกเสนอขายในปีที่ 1 ถึงปีที่ 2 ภายหลังวัน IPO และ 4. หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2-3 (ถ้ามี) จะเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัท

โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 2 ธ.ค.62 ประกอบด้วย STA ถือหุ้น 725,037,300 หุ้น คิดเป็น 73.2% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 50.7%, บริษัท รับเบอร์แลนด์โปรดักส์ จำกัด (RBL) ถือหุ้น 77,663,400 หุ้น คิดเป็น 7.8% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 5.4% และกลุ่มครอบครัวสินเจริญกุล ถือหุ้น 89,285,900 หุ้น คิดเป็น 9.0% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 6.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ