โบรกฯ เชียร์"ซื้อ"TU อัพไซด์สูงหลังธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องยังโตตามการกักตุนอาหารช่วงโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 15, 2020 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                โบรกเกอร์               คำแนะนำ         ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
                กสิกรไทย                  ซื้อ               16.10
                เคทีบี  (ประเทศไทย)        ซื้อ               16.00
                ฟิลลิปฯ (ประเทศไทย)      ทยอยซื้อ             17.90
                ยูโอบี เคย์เฮียนฯ            ซื้อ               15.30
                ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ           ซื้อ               16.80
                ทรีนีตี้                     ซื้อ               17.00
                เอเชีย เวลท์               ซื้อ               18.40
           นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ยังคงแนะ"ซื้อ"หุ้น TU แม้คาดกำไรไตรมาส 1/63 จะอยู่ที่ 864 ล้านบาท ลดลง 32.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 18.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster เข้ามาเพิ่มขึ้น  เนื่องจากร้านอาหารปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งขาดทุนทางธุรกิจในไตรมาสนี้ราว 300 ล้านบาท
          ขณะที่อาหารทะเลแช่แข็ง ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร ส่งผลทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง โดยอาหารทะเลแช่แข็งจากกลุ่มบริการอาหารคิดเป็นสัดส่วนราว 24% ของรายได้ทั้งหมด
          แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง ยอดขายยังปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้คนกักตุนอาหารและวัตถุดิบไว้บริโภคภายในที่อยู่อาศัย ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจากการปิดเมืองในหลายประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อยอดขายอาหารทะเลแปรรูปของ TU ไปจนถึงไตรมาส 2/63 ประกอบกับราคาพื้นฐานยังมีอัพไซด์อยู่ จากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า และการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่มีการเติบโตอย่างมาก
          "เรายังแนะนำ ซื้อ แต่ได้ปรับลดราคาเป้าหมายลงมาเป็น 16.10 บาท เนื่องด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจ Red Lobster ในต่างประเทศ และค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก แต่ในไตรมาส 1/63 ยังไม่ได้เห็นผลชัดเจน ขณะที่ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ได้สะท้อนปัจจัยลบไปทั้งหมดแล้ว"นางสาวธรีทิพย์ กล่าว
          ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่าราคาหุ้น TU มีโอกาสปรับตัวขึ้น จากอาหารยังเป็นสินค้าจำเป็นและผู้ประกอบการอาหารพัฒนาระบบดิลิเวอรี่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีโอกาสใกล้ผ่านพ้นจุด Peak รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว
          ทั้งนี้ ประมาณการกำไรสุทธิของ TU ในไตรมาส 1/63 ที่ 898 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 15% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐฯ รวมถึงในยุโรป ตลอดจนในไทยต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพราะโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.8% ในไตรมาส 1/63 จาก 14.9% ในปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารกระป๋อง ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ากลุ่มอาหารแช่แข็ง อันเนื่องมาจากภาวะการกักตุนอาหาร
          สำหรับผลดีจากการกักตุนอาหารถูกลดทอนลงจากการปิดตัวลงของภาคโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง (Food service/ Horeca) โดย Food service สัดส่วนประมาณ 55% ของอาหารแช่แข็ง ซึ่งจำหน่ายให้กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม มียอดขายลดลง ส่วนอีก 45% ซึ่งเป็นยอดขายให้กลุ่มค้าปลีก เช่น Walmart, Costco, Tesco และ Makro มียอดขายเพิ่มขึ้น
          ขณะเดียวกันได้ปรับกำไรสุทธิปีนี้ลง 7% มาอยู่ที่ 4.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน จากการปรับยอดขายลงจากเดิมโต 7.2% เหลือเป็นเติบโต 4% เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาหากภาคการท่องเที่ยว และร้านอาหารจะฟื้นกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบตามปกติ โดยยังมีมาตรการปิดเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ และสถานการณ์การระบาดในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดของ TU ประมาณ 40% ยังคงเป็นที่กังวลจากยอดผู้ติดเชื้อที่ยังค่อนข้างมาก
          บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)  ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ"ทยอยซื้อ" สำหรับ TU เนื่องจากผลการดำเนินงานอาจไม่ดีอย่างที่คาด โดยเฉพาะการรับรู้ผลขาดทุนของ Red Lobster ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น จากการปิดสาขาในสหรัฐ, แคนาดา, ฮ่องกง และจีน รวมถึงการดำเนินงานของ Avanti ในอินเดียจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจกุ้งที่อ่อนแอเช่นกัน
          ทั้งนี้ คาดว่ากำไรในไตรมาส 1/63 ของ TU จะอยู่ที่ 882 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 24% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้ยอดขายกลุ่มอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้นมาก แต่กลุ่มอาหารแช่แข็ง ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหารส่งผลให้ช่องทางการขาย Food service ทั้งในไทยและต่างประเทศลดลงอย่างมีนัย อีกทั้งใน 2 เดือนแรกได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่า คาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 13% จากไตรมาสก่อนหน้า
          อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาร์จิ้นจะปรับตัวดีขึ้นจากสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารกระป๋องที่มีมาร์จิ้นดีกว่ากลุ่มอาหารแช่แข็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ