KTB หั่น GDP ไทยปี 63 เป็นหดตัว 4.6% รับพิษโควิดกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยมากกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 16, 2020 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 จะหดตัว 4.6% ลดลงจากเดิมทมองว่าจะขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งถือว่ายังดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว 6.7% เนื่องจากภาครัฐได้ประกาศมาตรการทางการเงิน-การคลังกว่า 1.9 ล้านล้านบาทออกมาเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังไม่สูงมากนัก ทำให้เชื่อว่าจะเห็นมาตรการคลังอื่นๆ มาช่วยประคองเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลากยาวต่อไป

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มองว่าจะหดตัว 1.1% แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลที่ 5.2% ต่อ GDP ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 6.9%

อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะกลับมาขยายตัวที่ 6.1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวที่ 0.6% แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้นไปที่ 5.6% ต่อ GDP

นายมานะ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศสูง ส่งผลให้เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจะกระทบเศรษฐกิจไทยตามไปด้วย ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ IMF ในครั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานหลักว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะค่อยๆคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ยากที่จะคาดเดาว่าการแพร่ระบาดจะสอดคล้องกับที่ IMF คาดไว้หรือไม่ ซึ่งหากการแพร่ระบาดลากยาวไปมากกว่านี้ ก็ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงไปลึกกว่าที่คาดการณ์

โดยต้องจับตาเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังสถานการณ์ในสหรัฐฯและยุโรปยังน่าเป็นห่วง ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วยังน่าเป็นห่วงหลังการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป แม้จะใช้มาตรการ Lockdown ไปแล้วก็ตาม ซึ่งนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในระยะต่อไป โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มนี้จะหดตัวถึง 6.1% ในปี 63 ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 4.5% ในปี 64

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุข และดีมานด์จากทั้งในและต่างประเทศหยุดชะงัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 2.2% ในปี 63 และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการป้องกันยังลากยาวออกไป จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการปิดตัวของบริษัท และอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าจะหดตัว 0.6% และขยายตัว 7.8% ในปี 63 และ 64 ตามลำดับ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวหนักสุดถึง 6.7% ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตที่ 6.1% ในปี 64 รองลงมาคือ มาเลเซียที่ -1.7% ในปีนี้ และ 9% ในปี 64 สวนทางกับเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังคงขยายตัวได้ที่ 2.7% ในปี 63 และ 7% ปี 64

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่อาจประเมินได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้ IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว 3% ตกต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1930 จากพิษโควิด-19 นอกจากมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกแล้วยังมีผลต่อความไม่แน่นอนในตลาดการเงินยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย จะเห็นได้จากแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อไป ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กระแสเงินทุนมีความผันผวนรุนแรงและไหลออกจากสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่อาจเข้าสู่ภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนหยุดกะทันหัน (Sudden Stop) เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินปี 51-52 จากปรากฎการณ์นี้อาจกดดันให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯและเงินสกุลประเทศเกิดใหม่มีโอกาสอ่อนค่ามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ