นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)มั่นใจว่า ระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมจะรองรับการซื้อขายกองทุน Equity ETF(Exchange Traded Fund) กองแรกในประเทศไทยในไตรมาส 3/50 โดยการเตรียมงานของ ตลท.และทีมงานของบลจ.วรรณ จำกัด มีความคืบหน้าไปอย่างมาก
“Equity ETF เป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในตลาดทุนทั่วโลก โดยตลาดหลักทรัพย์เกือบทุกแห่งในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ แม้กระทั่งตลาดเกิดใหม่อย่างจีนก็มีการออก Equity ETF แล้ว โดยตั้งแต่ปี 2536 Equity ETF มีอัตราการเติบโตแบบสะสมประมาณร้อยละ 70 ต่อปี" นายสุภกิจ กล่าว
นายสุภกิจ กล่าวว่า การที่ตลาดทุนไทยจะมีการซื้อขาย Equity ETF จึงเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ที่จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ตลาดทุนไทย ตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้านการเตรียมความพร้อมของระบบงานที่เกี่ยวข้องนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดเตรียมและทดสอบระบบงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และระบบเผยแพร่ข้อมูลซื้อขาย ขณะที่ บ.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เตรียมระบบงานด้านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ งานสำนักหักบัญชี และงานนายทะเบียนเพื่อรองรับ อิควิตี้ อีทีเอฟ
ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานกับบริษัทสมาชิก เพื่อเตรียมระบบงานที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยระบบงานทั้งหมดจะมีการทดสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมและมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
ด้านการปรับหลักเกณฑ์เพื่อรองรับ Equity ETF ซึ่งตลท.ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แล้ว ทั้งนี้ Equity ETF จะเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในหมวดหน่วยลงทุน (Unit Trust) และมีช่วงเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายครั้งละ 0.01 บาท ราคาซื้อขาย Equity ETF สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุดหรือลดลงต่ำสุดได้ไม่เกิน 30% ของราคาปิดวันก่อนหน้า บลจ.ผู้ออก Equity ETF ต้องจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง(Market Maker)อย่างน้อย 1 ราย ตลอดระยะเวลาของการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
“เพื่ออำนวยความสะดวกและไม่เป็นอุปสรรคในการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาตลาดกับมูลค่าต่อหน่วยของ Equity ETF (Arbitrage) จึงกำหนดให้บริษัทสมาชิกและผู้ร่วมค้า Equity ETF (Participating Dealer) สามารถขายชอร์ต Equity ETF ได้ โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องราคาและช่วงเวลาซื้อขาย แต่ก่อนการขายชอร์ตจะต้องมีกลุ่มหลักทรัพย์หรือ Equity ETF มูลค่าที่เทียบเคียงได้ และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ซึ่งการทำ Arbitrage จะเป็นกลไกที่ทำให้ราคาตลาดกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยมีความใกล้เคียงกันมาก" นายสุภกิจ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมค้า Equity ETF สามารถซื้อขายแบบ Basket Order ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งเสนอซื้อขายกลุ่มของหลักทรัพย์ในคราวเดียวกัน โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องมูลค่าซื้อขายขั้นต่ำต่อ 1 Basket รวมถึง การอนุญาตการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถดูแลสภาพคล่องได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และสำหรับผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการทำ Arbitrage และดูแลมิให้ราคาตลาดกับมูลค่าต่อหน่วยแตกต่างกัน
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--