ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่า ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรได้ หลังจากไตรมาส 2/50 มีผลขาดทุนถึง 8.81 พันล้านบาท เนื่องจากในปีนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 11,500 ล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกแล้วในปีนี้ แต่คงจะไปดำเนินการอีกครั้งในปี 51
"การที่เราตั้งสำรองไปทีเดียวและมากกว่าเกณฑ์แบงก์ชาติที่กำหนด IAS39 ทำให้เราไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกในปีนี้ หากมีการตั้งสำรองอีกก็คงไปปี 51 เลย"นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BAY กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารเตรียมทบทวนเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อรวมในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้จาก 4.5% เหลือ 4% ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารตั้งเป้าว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโต 9% จากปีก่อน หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท
แต่ธนาคารก็เชื่อว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยธนาคารตั้งเป้า ROE เพิ่มขึ้นมาที่ 20% ในปี 2553 ซึ่งจะมาจากสินเชื่อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และจากรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งขณะนี้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย เพิ่มขึ้นเป็น 15% จากเดิมที่ 12%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมในปีนี้คาดว่าจะปรับลดลง หรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุที่ปรับลดจะมาจากการที่ธนาคารจะแปลง NPL ให้เป็นสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เพื่อนำออกมาจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงการลด NPA เดิมลงไปด้วย
ทั้งนี้ NPL สิ้นปีก่อน 4.3 หมื่นล้านบาท เป็นของ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC)ของธนาคารเองอีก 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ ณ ปัจจุบัน NPL เมื่อรวมของ AMC เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น ในวันที่ 23 ก.ค.คณะกรรมการธนาคารจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ได้ทยอยประกาศลดกันไปแล้ว
นายตัน กล่าวต่อว่า ในครึ่งปีหลังธนาคารจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นสถาบันการเงินที่ครบวงจร ทั้งการใช้จุดแข็งของสาขาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และการแก้ไขปัญหา NPL รวมถึงการหาโอกาสขยายการเติบโตนอกเหนือจากการเติบโตในขณะนี้
ส่วนปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา นายตัน กล่าวว่า ธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่สินชื่อไปพูดคุยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าส่งออกให้ถี่ขึ้นจากเดิมเดือนละครั้งเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างทันต่อสถานการณ์
ปัจจุบัน ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการส่งออก 20% ของสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่งออกเองก็ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาทด้วยการเข้ามาใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้วย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้รับผลกระทบมาก ขณะที่ทำให้ธนาคารมีรายได้เพิ่มเข้ามาจากค่าธรรมเนียมด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--