นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า มีความเป็นไปได้มากที่รัฐบาลจะตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ประเทศในเร็วๆนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ส่งสัญญาณชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 สัปดาห์ก่อนที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยหลักร้อยรายต่อวัน
แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังไม่นิ่ง แต่มีสิ่งที่น่าสนใจคือศักยภาพการตรวจผู้ป่วยในไทยสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ก.พ. ช่วงนั้นมีศักยภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพียงหลัก 200-300 รายต่อวันเท่านั้น ล่าสุดไทยมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สูงถึง 18,000 รายต่อวันจาก 77 ห้องแล็ป เป็นสิ่งสะท้อนว่าจำนวนห้องแล็ปที่เพิ่มขึ้น แต่ตรวจหาพบผู้ที่ติดเชื้อในอัตราลดลง บ่งชี้ว่ารัฐบาลอาจสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในไทยได้แล้วในระดับหนึ่ง
"หนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือ Active Case คือจำนวนผู้ป่วยตัดออกกับจำนวนผู้ที่รักษาหายและเสียชีวิต ปรากฎว่าไทยดิ่งหักหัวลงเร็วมาก สะท้อนว่าจำนวนผู้ที่รักษาหายแล้วมีอัตราเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อยมากอยู่แล้ว ถ้าเป็นในลักษณะนี้มีแนวโน้มว่ารัฐบาลคงกำลังตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ Lockdown บางส่วน เพื่อยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มเดินได้บ้าง"
นอกจากนี้ ตามรายงานข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชพยาบาลออกมาคาดการณ์ว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยในวันนี้ต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค. อาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ 30 รายต่อวัน
ส่วนอีกหลายประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าในไทย เริ่มทยอยปลดล็อกดาวน์ไปบ้างแล้ว เช่น เยอรมนี กับสวิตเซอร์แลนด์ ก็เริ่มเปิดห้างร้านค้าขนาดเล็ก
นายประกิต กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่าในเดือน พ.ค.รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังเห็นการณรงค์ Social Distancing ต่อไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจกลับมารอบใหม่ เนื่องจากรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าถ้าหยุดชะงักทางธุรกิจนานเกินไปจะส่งผลเสียหายกับเศรษฐกิจประเทศอย่างรุนแรง เป็นเหตุผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเพื่อต่อลมหายใจให้กับภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปถึงขนาดเล็ก เช่น การพักชำระหนี้ ,การปล่อยกู้ฉุกเฉินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรณีรัฐบาลเริ่มผ่อนปรน Lockdown รอบแรกคาดเปิดเป็นโซนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์อันดับต้นๆ ประกอบด้วย 14 หุ้นเด่นในแต่ละเซ็กเตอร์ ได้แก่ กลุ่มรับอานิสงส์การเปิดห้างสรรพสินค้าคือ CPN , AWC ,CRC ,กลุ่มห้างร้านวัสดุก่อสร้างคือ HMPRO ,DOHOME ,GLOBAL ,กลุ่มร้านอาหารและโรงแรมคือ MINT ,CENTEL ,ERW เพราะเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยมากกว่าที่คาดการณ์ เพราะไทยเป็นหนึ่งประเทศปลอดภัยควบคุมการติดเชื้อใหม่ได้ดีกว่าประเทศแถบตะวันตก
กลุ่มปิโตรเคมีได้รับประโยชน์ภาคการผลิตทั่วโลกกลับมาเดินเครื่องกันอีกครั้ง ได้แก่ IVL ,PTTGC
กลุ่มขนส่งรับประโยชน์จากการกลับมาเดินทางมากขึ้นของประชาชน ได้แก่ BEM ,BTS ,AOT
ด้านมุมมองบทวิจัยฯ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ต้องติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคาร 21 เ.ม.ย.นี้ว่ารัฐบาลจะพิจารณาประเด็นขยายอายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯหรือไม่ (ระยะเวลา 26 มี.ค.-30 เม.ย.) ซึ่งจะมีผลต่อข้อบังคับบางประการ เช่น การจำกัดห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่ 4 ทุ่ม–ตี 4
นอกจากนั้น ต้องติดตามว่าจะอนุญาตให้สถานประกอบการต่าง ๆ กลับมาเปิดร้านได้ตามปกติหรือไม่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร, สนามกีฬากลางแจ้ง, สนามกีฬาในร่ม/กลุ่มฟิตเนส, ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม, ผับ-บาร์, และร้านค้าเฉพาะสินค้า เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามต้องปฏิบัติตามกฎ เช่น การเว้นระยะห่างของเก้าอี้ มีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้ามาใช้บริการ
ทั้งนี้ คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อย่างน้อยรัฐบาลจะผ่อนคลายเป็นบางจังหวัด เช่น จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ เช่น กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พิจิตร, ระนอง, อ่างทอง หรือ จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อกัน 14 วัน เช่น ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร สุรินทร์ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ราชบุรี สระบุรี เป็นต้น โดยปัจจัยสนับสนุนจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ในระดับต่ำ ประเมินหากมีการผ่อนคลายจริงจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยและหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อาทิ ห้างสรรพสินค้า และ Modern Trade เป็นต้น
https://youtu.be/gvycEr_QucE