นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันกว่า 70 รายเข้าร่วมงานโรดโชว์“International Roadshow in Japan"ที่ตลท.เข้าร่วมงานตามคำเชิญของบล.พัฒนสิน และ Nomura Securities ระหว่างวันที่ 29 —31 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
"ได้รับการตอบรับด้วยดีเป็นอย่างยิ่งจากผู้บริหารกองทุนและตัวแทนสถาบันต่าง ๆ รวมกว่า 70 ราย โดยผู้ที่เข้าร่วมงานได้แสดงความพอใจต่อการนำเสนอข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทจดทะเบียน และยังสนใจติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง"นางภัทรียา กล่าว
สำหรับนักลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมโรดโชว์มาจากหลายหมวดธุรกิจ อาทิ ธนาคาร ประกัน ธุรกิจร่วมลงทุน บริษัทจัดการลงทุน และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภค โดยประเด็นที่สถาบันเหล่านี้สนใจสอบถาม ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง
นางภัทรียา กล่าวว่า ตลท.ได้ใช้โอกาสนี้ได้การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ คือ อิควิตี้อีทีเอฟ และ SET50 Index Options ที่จะเริ่มซื้อขายในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจอย่างมากเช่นกัน
สำหรับช่วงการพบบริษัทจดทะเบียนแบบ one-on-one meeting มีนักลงทุนสถาบันประมาณ 20 แห่งเข้ารับฟังข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และบมจ. ไทยออยล์ (TOP)
“เชื่อมั่นว่าการเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนสถาบันในประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนสถาบันในญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และต้องการข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือ รวมทั้ง จากบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ประกอบการโดยตรง"นางภัทรียา กล่าว
นอกจากนี้ ตลท.ยังเชิญชวนสถาบันต่าง ๆ ให้เข้าร่วมงานไทยแลนด์โฟกัส ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 -14 กันยายนนี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้สถาบันต่างๆ ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงในไทย และรับฟังข้อมูลโดยตรงจากบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่งด้วย
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลท.กล่าวกับผู้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง และในระยะอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมีการลงประชามติให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ด้านการเมืองของประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทย ก็จะเดินหน้าพัฒนาในทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดทุนโลก
ขณะที่ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ อาทิ ตัวชี้วัดระดับเศรษฐกิจมหภาคที่แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์โดยผู้ลงทุนต่างชาติที่เป็นยอดซื้อสุทธิในปีนี้ แม้กระนั้น ค่าพีอี หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย ก็ยังถือว่า ต่ำกว่าตลาดหลายแห่งในภูมิภาค ขณะที่มีสภาพคล่องและผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้วางแผนยุทธศาสตร์ในระยะ 3 ปีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกับตลาดทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยมีพื้นฐานที่ดีด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การมีระบบรองรับคำสั่งซื้อขายตรงของผู้ลงทุนสถาบัน (Direct Market Access: DMA) ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ในอนาคต
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--