นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผนงาน แม้จะเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศก็มีการเจรจาธุรกิจผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลงทุน ทั้งในรูปแบบซื้อกิจการ (M&A) และศึกษาขยายการลงทุนโครงการใหม่ โดยในปัจจุบันบริษัทเงินสดในมือราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอต่อการขยายการลงทุนในปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 200-250 เมกะวัตต์ (MW) ในประเทศมาเลเซีย และศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในเวียดนาม ฟิลิปินส์ เกาหลีใต้ ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันนั้นมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ในมือราว 3,424 เมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมายกว่า 104 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง ขนาดกำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ที่จ.มุกดาหาร โครงการโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิต 39 เมกะวัตต์ ที่ประเทศกัมพูชา โครงการโซลาร์รูฟท็อป รูปแบบ Private PPA รวมกำลังการผลิต 49 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโซลาร์รูฟท็อปในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัย จ.ระยอง 13 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อปที่ฟิลิปินส์ 6 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อป AL Madina ประเทศโอมาน 30 เมกะวัตต์
ขณะที่ล่าสุดบริษัทซื้อหุ้น 70% ในบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 123 เมกะวัตต์ เข้ามาด้วย ซึ่งจะช่วยผลักดันผลประกอบการในปีนี้
นายนพเดช กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภทลดลงตามการเดินเครื่องผลิตที่ลดลง แต่ก็ถูกชดเชยด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกที่ได้มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายประเภทซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการขายไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BGRIM กล่าวว่า บริษัทเห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลด้วยการลดค่าไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในยามที่เกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานนั้น ปัจจุบันยังไม่มีรายใดที่มาเจรจาขอลดค่าไฟฟ้ากับบริษัท