ASPS มองหุ้นไทยช่วงนี้ฟื้นตัวกรอบจำกัด เหตุเงินทุนต่างชาติยังไหลออก-แนวโน้มกำไรบจ.ปีนี้ลดลงรับผลศก.ชะลอตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 21, 2020 18:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ยังคงอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด โดยหลังจากที่ดัชนีปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 969.08 จุด ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่กว่า 1,200 จุดในช่วงนี้ ได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อของสถาบันในประเทศเป็นหลัก แต่เงินทุนต่างชาติยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะยังไม่ไหลกลับเข้ามาในระยะเวลาอันสั้น ยังคงต้องรอภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัวก่อนแล้วจึงจะเห็นเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามา
สำหรับทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 7.81 แสนล้านบาท ลดลง 17.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 9.31 แสนล้านบาท โดยบริษัทส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 และถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมาด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน น้ำมัน และปิโตรเคมี ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้จะมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน รวมถึงส่วนต่างผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ลดลง และค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงด้วย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการขนส่ง โรงแรม และท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนกลุ่ม ICT มีต้นทุนจากการประมูลคลื่น 5G เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มธนาคารได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐให้ปรับลดการนำส่งเงินเข้าสู่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) จึงไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากลุ่มอื่น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามการปรับขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเป็นไปในทิศทางได อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาครัฐจะมุ่งเน้นมาตรการการเงินและการคลังอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยมาตรการทางการเงินคาดมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการทางการคลังยังเห็นการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยต้องติดตามว่านโยบายต่าง ๆ ที่นำออกมาใช้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนได้เร็วและมากเพียงใด "การชะลอตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นการชะลอตัวที่มากกว่าครั้งก่อน ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP โลกจะลดลง 3% ซึ่งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมา โดยหลาย ๆ ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัว โดยประเทศไทยยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการว่างงานที่คาดกันว่าจะมีมากถึง 7-10 ล้านคน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยแล้งด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมการบริโภค กำลังซื้อที่ลดลง ในส่วนนี้จะกระทบค่อนข้างมาก ขณะที่การส่งออกเอง การท่องเที่ยวเองก็ยังไม่สามารถเข้ามาพยุงเศรษฐกิจได้"นายเทิดศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ