ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และบริษัทในเครือ รายงานผลการดำเนินงานสำหรับงวดไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 7.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาส 4/62 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss หรือ ECL) เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้กรอบมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63
แม้ว่าการแพร่ระบาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ.63 อีกทั้งยังมีมาตรการปิดเมืองที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.63 แต่เงินให้สินเชื่อยังคงเติบโต 2.9% ในไตรมาส 1/63 โดยมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มลูกค้าธุรกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อเพื่อรายย่อย สะท้อนถึงการเติบโตที่ต่อเนื่องมาจากช่วงสิ้นปี 62 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลง 6.1% จากการชำระหนี้ตามฤดูกาลและปริมาณการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง
เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 6.4% หรือจำนวน 100 พันล้านบาทจาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.94% เทียบกับ 3.52% ในไตรมาส 4/62 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของต้นทุนทางการเงินและการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลง 9.2% หรือจำนวน 869 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อย สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในระหว่างไตรมาส
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ 41.0% ปรับตัวดีขึ้นจาก 43.7% ในไตรมาส 4/62
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio): อยู่ที่ระดับ 2.22% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62
อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: อยู่ที่ระดับ 159.1% เทียบกับ 163.8% ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 15.66%
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวว่า แม้ว่ากรุงศรีสามารถส่งมอบผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในไตรมาส 1/63 ซึ่งสะท้อนถึงพอร์ตสินเชื่อที่สมดุลและการบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ธนาคารคาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 2/63 เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน จากการหยุดชะงักของภาคการผลิตและรายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม และ 10 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่ได้ออกมาสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม อาทิ การพักชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย การปรับลดการชำระดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาผ่อนชำระ
"แม้ว่าภาคธุรกิจและการจ้างงานจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และระยะเวลาของการแพร่ระบาดตลอดจนการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน กรุงศรียังคงมุ่งมั่นในความพยายามให้การช่วยเหลือลูกค้ารวมถึงภาคสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดเส้นทางการฟื้นฟูสู่สภาวะปกติ" นายอาคิตะกล่าวเพิ่มเติม
ณ วันที่ 31 มี.ค.63 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.87 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.67 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.51 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 270.48 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 15.66% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 11.01%