นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บ้านปู (BANPU) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากภาคเอกชนที่เริ่มเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 25792
ดังนั้น บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปูฯ ที่มีจุดยืนในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงมุ่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดให้ตอบเทรนด์การใช้พลังงานของโลกในอนาคต พร้อมนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาผสานเข้ากับระบบบริหารจัดการพลังงาน นำไปใช้พัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงพัฒนาระบบบริการหลังการขายของบริษัทฯ โดยเฉพาะในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ใ
บ้านปูฯ รวบรวม 5 เทคโนโลยีสำหรับพลังงานโซลาร์ที่จะเข้ามาเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ คุ้มค่า และยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ มีการบริหารจัดการพลังงานที่เหมาะกับการใช้งาน หรือการดำเนินงานของแต่ละองค์กร และช่วยลดต้นทุนในระยะยาว
เทคโนโลยี 3 สิ่ง ที่บ้านปูฯ นำมาเสริมศักยภาพให้กับโซลาร์โซลูชัน
- อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things - IoT) เทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งบ้านปูฯ นำ IoT มาใช้ในการบริหารจัดการระบบการทำงานของอุปกรณ์ และช่วยเสริมบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเชื่อมต่อข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ ข้อมูลการทำงานของระบบการผลิตไฟฟ้าของไซต์ ข้อมูลความเข้มแสง อุณหภูมิบนแผง และความเร็วลมของไซต์งาน เพื่อนำมาประมวลผลในระบบคลาวด์ที่เป็นศูนย์กลาง และนำไปแสดงผลให้แก่ 2 ส่วน คือ 1. ลูกค้าผู้ใช้งาน
โดยบ้านปูฯ ได้พัฒนาโมบาย แอปพลิเคชันแสดงข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น ลูกค้าสามารถตรวจสอบการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ ดูข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้า และข้อมูลการประหยัดไฟในแต่ละวัน พร้อมอัพเดทการแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงการคำนวณปริมาณ CO2 ที่ลดลงจากการใช้โซลาร์ของลูกค้าเทียบเท่าปริมาณการประหยัดน้ำ และการปลูกต้นไม้ 2. เพิ่มศักยภาพในการบริการหลังการขาย โดยทีมวิศวกรและทีมบริการหลังการขาย สามารถได้รับข้อมูลการทำงานของระบบ พฤติกรรมการใช้ไฟของแต่ละไซต์ รวมถึงความผิดปกติต่างๆ แจ้งเตือนปัญหาแบบเรียลไทม์ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
- ระบบไมโครกริด (Microgrid) ระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟฟ้าแบบอิสระได้โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือทำงานขนานกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม ประกอบด้วยระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม เป็นต้น ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System) และระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้า (Energy Management System) ซึ่งระบบนี้สามารถนำมาใช้และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ได้ 100% โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งอื่น
บ้านปูฯ ได้นำระบบไมโครกริดแบบเคลื่อนที่ ไปใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าในงานไลฟ์สไตล์อีเว้นท์ต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต งานเทศกาล เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้พลังงานสะอาดให้แก่คนไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำระบบไมโครกริดไปใช้ในโครงการพื้นที่อุตสาหกรรมและ Smart City บางแห่งด้วย
-ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ (Energy Storage System) หัวใจสำคัญที่จะมาช่วยยกขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการพลังงานโซลาร์ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานสำรองไว้ใช้ในเวลากลางคืนแล้ว ยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพของการใช้พลังงานให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยกระจายพลังงานให้เหมาะสมกับการใช้งานในช่วงต่างๆ ด้วย ซึ่งบ้านปูฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ พัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมาพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับกลุ่มที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้พลังงานโซลาร์ได้อย่างคุ้มค่าทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้หากในอนาคตมีนโยบายสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้า ก็สามารถนำไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานนี้ไปขายต่อได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แพร่หลายมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 2 สิ่ง ที่บ้านปูฯ เล็งเห็นว่าจะเข้ามามีบทบาทในการเสริมศักยภาพการใช้พลังงานโซลาร์ในอนาคต
1.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) การใช้ AI สำหรับโซลาร์และแวดวงพลังงาน จะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการประมวลผลดาต้าจำนวนมหาศาล เช่น พื้นที่หรือแหล่งชุมชนที่มีการใช้พลังงานในปริมาณที่แตกต่างกัน รวมถึงมีจุดผลิตไฟฟ้าหลากหลายไซต์ในระบบ ทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีโครงข่ายระบบผลิตและและการจ่ายไฟฟ้าที่ซับซ้อนมาก โดย AI สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งระบบได้อย่างรวดเร็ว นำมาวิเคราะห์ ประมวลผล รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มในการผลิตและการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำ
จึงสามารถนำมาออกแบบแหล่งปริมาณและการใช้พลังงานที่เหมาะสมได้ รวมถึงคาดการณ์ปัญหาของระบบที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ทำให้เราสามารถวางแผนการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตบ้านปูฯ มองว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดในโครงการ Smart City และโครงการโซลาร์ที่จะมีจำนวนมากขึ้น จะเห็นได้ว่า AI สามารถนำมาใช้วางแผนบริหารจัดการพลังงานเชิงรุก และการดูแลรักษาระบบ เช่น นำเสนอโซลูชันที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนา Energy Trading Platform ซึ่งจะเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ (Peer-to-peer Network) ทำให้สามารถซื้อ - ขายไฟฟ้าได้โดยตรงไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งระบบในการเก็บดาต้านี้มีความปลอดภัยสูง มีความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว และปราศจากข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม จึงเหมาะกับการใช้ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้งานแต่ละรายในระบบ โดยปัจจุบันประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ริเริ่มโครงการที่ให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและสามารถขายให้ระหว่างกันได้ผ่านระบบบล็อกเชน
"บ้านปูฯ เชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างสมาร์ทซิตี้ และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจะมุ่งนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการดำเนินงานและนำเสนอเป็นโซลูชันด้านพลังงานสะอาดที่หลากหลายให้แก่ทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันจะเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV) เดินหน้าพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานลม เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น" นางสมฤดี กล่าว