โบรกฯเชียร์"ซื้อ"SCC แม้คาดกำไร Q1/63 หดแต่รับผลบวกน้ำมันร่วงหนุนสเปรดเพิ่ม-ส่งบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น,ราคามีอัพไซด์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 23, 2020 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แม้คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่จะประกาศในวันที่ 29 เม.ย.นี้ จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน จากสเปรดปิโตรเคมีอยู่ระดับต่ำจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้านธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างซบเซา จากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมีเสถียรภาพดี ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงยังกดดันให้มีผลกระทบจากขาดทุนสต็อกสินค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำมันร่วงลงแรงทำให้แนฟทา ซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลงด้วย ผลักดันให้สเปรดเปิดกว้างมากขึ้น ภาพรวมสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ด้านค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่ารวดเร็ว ยังส่งผลบวกต่อ SCC ด้วย

ขณะที่ SCC ยังมีปัจจัยบวกจากเตรียมส่ง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เข้าตลาดหุ้นในปีนี้ และยังคงเป็นหนึ่งเป้าหมายของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ตลอดจนราคาหุ้นที่ปรับลดลงมากทำให้ราคาหุ้นกลับมามี Upside ที่น่าสนใจอีกครั้ง

พักเที่ยงราคาหุ้น SCC อยู่ที่ 328 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.48%

          โบรกเกอร์                  คำแนะนำ            ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ทิสโก้                        ซื้อ                  372
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ              ซื้อ                  417
          บัวหลวง                      ซื้อ                  430
          เอเซีย พลัส                   ซื้อ                  396
          กสิกรไทย                     ซื้อ                  365
          หยวนต้า (ประเทศไทย)       Trading                370

นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ของ SCC คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 8.31 พันล้านบาท ลดลงราว 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับแรงกดดันจากส่วนต่าง (สเปรด) ของธุรกิจปิโตรเคมีที่แม้จะมีมาร์จิ้นดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากแนฟทาที่เป็นวัตถุดิบมีราคาปรับลดลงตามราคาน้ำมัน แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/62 สเปรดของผลิตภัณฑ์ HDPE ปรับตัวลงถึง 175 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสเปรดผลิตภัณฑ์ PP ลดลง 62 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาแนฟทาที่ลดลงทำให้เกิดขาดทุนสต็อกราว 500-600 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ก็ได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ แม้ได้ผลบวกจากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการจัดทำงบการเงินรวมกับบริษัท Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และ Visy ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในไทย ที่ได้เข้าซื้อตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็จะถูกหักล้างด้วยการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้น หลังเงินดอลลาร์แข็งค่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทำให้ SCC ต้องทบทวนแผนการลงทุนใหม่จากเดิมที่ตั้งงบลงทุนในปีนี้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท ก็จะยกเลิกโครงการที่ไม่ได้กำหนดไว้ แต่โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม และโครงการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังคงเดินหน้าต่อ รวมถึงการมุ่งเน้นผลิตสินค้ามูลค่าสูง (HVA) ซึ่งมีมาร์จิ้นสูง ก็จะช่วยประคองธุรกิจให้ SCC อยู่รอดในระยะยาว

นอกจากนี้ SCC ยังมีปัจจัยหนุนจากการเดินหน้านำบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าตลาดหุ้น ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ นับเป็นธุรกิจดาวรุ่งของ SCC ในอนาคต

"ราคาหุ้น SCC ปรับลงมามากก่อนหน้านี้ ทำให้ upside เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง แม้ระยะสั้น SCC ยังเจอกับปัจจัยลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว แต่ downside ก็มีไม่มาก จากการฟื้นกลับของสเปรด ในธุรกิจปิโตรเคมีอย่างรวดเร็วและเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่า ส่งผลบวกต่อ SCC ในฐานะบริษัทที่เป็น Net Exporter"นายประสิทธิ์ กล่าว

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินกำไรสุทธิของ SCC ในไตรมาส 1/63 ที่ระดับ 6.32 พันล้านบาท ลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 11% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี แม้สเปรดจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ปริมาณขายชะลอลง โดยเฉพาะช่วงเดือนม.ค.63 ที่จีนปิดประเทศ และไม่มีปันผลรับจากบริษัทที่ไปลงทุน

อย่างไรก็ดี สเปรดปิโตรเคมีดีขึ้น จากราคาวัตถุดิบลดลงตามราคาน้ำมัน ประกอบกับ SCC มีสินค้า HVA ที่ให้มาร์จิ้นเป็นสัดส่วนสูง รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการผลิต สามารถเลือกผลิตสินค้าที่ให้ประโยชน์กับ SCC มากที่สุด ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ นอกจากนั้นมีโรงงานในภูมิภาคปิดซ่อมทำให้อุปทานหายไปบางส่วน ยังผลให้มาร์จิ้นในช่วงไตรมาสแรกอยู่เกณฑ์ดี

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างซบเซา หลังงบประมาณปี 63 ของไทยที่ล่าช้า และคาดว่าจะยังกระทบตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีเสถียรภาพดี เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ เกือบ 70% เป็นสินค้าคอนซูเมอร์ ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามในไตรมาสนี้ SCC มีผลขาดทุนจากสต็อกผลิตภัณฑ์ราว 1.56 พันล้านบาท จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลง

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/63 คาดว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาส โดยเป็นผลจากธุรกิจปิโตรเคมีดีขึ้น หลังราคาวัตถุดิบแนฟทาต่ำลง และได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ไปลงทุน ขณะที่ผลกระทบจากขาดทุนสต็อกสินค้าน้อยลง แต่ส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยการปิดซ่อมบำรุงโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เป็นเวลา 45 วัน และราคา PP และ PE ลดลง

ทั้งนี้ SCC ยังมีปัจจัยหนุนจากการนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น รวมถึงอุปสงค์ซีเมนต์ในประเทศที่ฟื้นตัวหลังโครงการลงทุนภาครัฐเดินหน้าได้ดีขึ้น การเติบโตที่ดีของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และ Valuation ที่จูงใจ ณ ราคาปัจจุบันมี P/E ปี 63F ที่ 12 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มในภูมิภาคที่ 14 เท่า

ด้านบทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า SCC มีปัจจัยพื้นฐานที่น่าสนใจจากภาพรวมการดำเนินงานจะดีขึ้นหลังจากนี้ ผลพวงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว และการอ่อนค่าของเงินบาท ช่วยให้มาร์จิ้นธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจในต่างประเทศดีขึ้น

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้ประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แต่ธุรกิจปูนและวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายเงินประมาณที่ล่าช้า นอกจากนี้ยังคาดว่า SCC จะเป็นหนึ่งในเป้าลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) พิเศษด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ