ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งในกลุ่มแอล เอช ไฟแนนเชียลกรุ๊ป โดยมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มและมีบริษัทลูกรายอื่นๆ ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนและธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทต้องพึ่งพาเงินปันผลจากบริษัทลูกรายสำคัญเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รวมทั้งจากการที่บริษัทมีความด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างกว่าและมีความเสี่ยงในการได้รับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่ธนาคารต้องปฎิบัติตาม ซึ่งทำให้อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ 1 ขั้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ธุรกิจธนาคารเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทริสเรทติ้งประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป โดยสะท้อนถึงธุรกิจของกลุ่มที่มีขนาดค่อนข้างเล็กอันมีธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจหลัก ทั้งนี้ ธุรกิจสำคัญของกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจธนาคารซึ่งดำเนินงานโดยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งดำเนินงานโดย บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และธุรกิจบริหารกองทุนซึ่งดำเนินงานโดย บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่ากลุ่ม LHFG ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องในการดำเนินกลยุทธ์ผสานพลังระหว่างธุรกิจในกลุ่มแม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็ตาม ทั้งนี้ การเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสนับสนุนทางธุรกิจจาก CTBC Bank Co., Ltd. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสะท้อนถึงพัฒนาการดังกล่าว
บริษัทลูกของกลุ่มแต่ละรายมีขนาดธุรกิจที่เล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้งสินเชื่อและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 1.3% จากธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง 10 แห่ง ณ สิ้นปี 2562 บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 0.7% ของอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก็สะท้อนถึงฐานลูกค้าที่มีขนาดเล็ก ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของมูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็คิดเป็นสัดส่วนที่เล็กที่ระดับ 1.0% ของอุตสาหกรรมในปี 2562
ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของบริษัท ในปี 2562 ผลกำไรสุทธิก่อนรายการตัดบัญชีระหว่างกันจากธุรกิจธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 42% ตามด้วยธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (3.4%) และธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (3.0%) โดยส่วนที่เหลือ 51% ของกำไรสุทธิมาจากรายได้จากเงินปันผลและกำไรจากเงินลงทุนเป็นหลัก รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิคิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 20%
เงินกองทุนแข็งแกร่ง สำหรับสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งของธนาคารพาณิชย์ การประเมินสถานะเงินกองทุนของบริษัทสะท้อนถึงสถานะเงินกองทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Core Equity Tier-1 -- CET-1) ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17.5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารจะหดตัวลงที่ระดับ 7% ในปี 2563 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมของทริสเรทติ้ง แล้วหลังจากนั้นในปีถัด ๆ ไปสินเชื่อจะกลับมาฟื้นตัวแบบบางเบาจากฐานที่ต่ำลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ณ สิ้นปี 2562 เมื่อรวมผลกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 45% แล้วนั้นจะอยู่ที่ระดับ 16.7% โดยอัตราส่วนลดลงจากระดับ 18.66% ณ เดือนกันยายน 2562 เนื่องจากการจัดประเภทของเงินลงทุนให้เป็นเงินลงทุนเพื่อค้าที่มีสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าจากเดิมที่เป็นเงินลงทุนเผื่อขาย ณ สิ้นปี 2562
หนี้สินอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัท แหล่งเงินทุนตามงบการเงินรวมของบริษัทนั้นมาจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหลักอันประกอบไปด้วยเงินฝากจำนวน 1.65 แสนล้านบาท รายการหนี้สินระหว่างธนาคารและตลาดการเงินจำนวน 1.05 หมื่นล้านบาท รวมทั้งตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมอีกจำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ งบการเงินเฉพาะของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 ประกอบไปด้วยตราสารหนี้ระยะสั้นคงค้างจำนวน 5 พันล้านบาทซึ่งจำนวน 3 พันล้านบาทจะครบกำหนดในปี 2563
สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่เข้มแข็งอยู่ที่ระดับ 36% ณ สิ้นปี 2562 สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคารและตลาดการเงินจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนสุทธิจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณาในส่วนของงบการเงินเฉพาะของบริษัทแล้ว บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้สินระยะสั้นได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในระหว่างปี 2563-2565
อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับ -7% ในปี 2563 และที่ระดับ 1%-2% ในระหว่างปี 2564-2565
ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 0.6%-0.8%
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) จะอยู่ที่ระดับ 2.2%-2.7%
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 17.5%
อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.3%-1.4%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ของบริษัทสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักจะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านธุรกิจและเงินกองทุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank ในขณะที่การกระจุกตัวของสินเชื่อของธนาคารนั้นน่าจะลดลงได้ในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกรายสำคัญที่ดำเนินธุรกิจธนาคารของกลุ่มแอล เอช ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกลุ่มที่มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัทอ่อนแอลง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของบริษัท