นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้ปรับลดการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทย และในเมียนมา แต่ยืนยันว่าได้มีการบริหารจัดการการซื้อก๊าซฯทำให้ไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซฯขั้นต่ำที่ ปตท.ได้ทำไว้กับผู้ผลิตก๊าซฯในแหล่งดังกล่าว จึงไม่มีภาระตามเงื่อนไข Take or Pay ที่หากผู้ซื้อไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำ ก็จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย
ขณะเดียวกัน ปตท.ก็ได้ทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร (spot) เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แล้วเพื่อนำเข้า LNG ตามสัญญา spot ที่ปัจจุบันมีราคาต่ำเข้ามาทดแทนชะลอการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ตามนโยบายที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน โดยขณะนี้ ปตท.ทำส้ญญานำเข้า LNG จาก spot จำนวน 4 ลำเรือ ปริมาณราว 6 หมื่นตัน/ลำเรือ และได้นำเข้ามาแล้ว 1 ลำเรือ ส่วนอีก 3 ลำเรือจะเข้ามาในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. โดยมีราคาอยู่ที่ราว 3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทยและเมียนมา ซึ่งเป็นราคาผูกกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน
นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำเข้า LNG จำนวน 2 ลำเรือ ปริมาณรวม 130,000 ตันในช่วงปลายเดือนธ.ค.62 และเม.ย.63 อย่างไรก็ตามปตท. ยังคงรับ LNG ตามสัญญาระยะยาวที่มีอยู่ราว 5.2 ล้านตัน/ปีอยู่เช่นดิม ภายใต้การบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายระยะยาว
ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้ลดลงมากในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบางกลุ่ม ปิดกิจการชั่วคราวจากการปิดพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล่านี้ลดลง แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมาก ตามนโยบาย"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"
"วันนี้เราเจรจาขอลดการรับซื้อก๊าซฯแล้ว แต่เรามีวิธีการที่ไม่เกิดภาระ Take or Pay ซึ่งตอนนี้ปตท.และกฟผ.ก็นำ LNG spot เข้ามา ภายใต้หลักการไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก๊าซฯในอ่าวไทย เมียนมา อย่างน้อยต้องบริหารจัดการได้ เราคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี ภาพรวมไม่กระทบต่อ DCQ (ปริมาณการผลิตต่อวันตามสัญญาซื้อขาย (Daily Contract Quantity)) สัญญาเฉลี่ยทั้งปี"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การสนับสนุนให้นำเข้า LNG จาก spot เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยดูแลเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันก๊าซฯนับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนมากถึง 60% ขณะที่ราคา LNG ในตลาด spot ในปัจจุบันนับว่าถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย จึงให้ปตท.นำเข้า LNG จาก spot เข้ามา และได้เริ่มนำเข้ามาแล้วเพื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดต่ำลง ในขณะที่ก๊าซฯในอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซฯเปียกคุณภาพดีก็ให้บริหารจัดการ เพื่อนำมาใช้ระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานของประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงฯยังส่งเสริมให้บุคคลที่ 3 นำเข้า ตามหลักเกณฑ์ Third Party Access โดย กฟผ. ก็ได้เริ่มนำเข้า LNG มาแล้ว 2 ลำเรือ ก็จะเป็นการทดสอบระบบเพื่อเตรียมเปิดให้รายอื่นนำเข้าต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกพ.กล่าวว่า ปตท.ได้รายงานว่าพร้อมนำเข้า LNG ตามสัญญา spot จำนวน 11 ลำเรือในปีนี้ รวม 6.6 แสนตัน หากนำเข้าได้ทั้งหมดจะลดต้นทุนประเทศ 4 พันล้านบาท ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า 1.5 สตางค์/หน่วย โดย LNG ที่ ปตท.นำเข้าจะสามารถผสมก๊าซฯให้มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมและยานยนต์ (NGV) ส่วนจะนำเข้าในปริมาณมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งการนำเข้าปริมาณนี้ได้มีการประเมินตามการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานแล้วว่าการใช้ก๊าซฯปลายปีจะลดลงจากแผนเดิม 12% หรือ ราว 557 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยความต้องการใช้ก๊าซฯในไตรมาสแรกปีนี้ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังทรงตัวที่ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน