นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในวันที่ 23 มี.ค.63 ที่SET Index อยู่ที่ระดับ 1,024.46 จุด โดยในเดือน เม.ย. SET Index เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 13% และ ฟื้นตัวสูงถึง 24% จากจุดต่ำสุด ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการฟื้นตัวที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ หลังจากที่เคยปรับตัวลดลงแรงถึง 33% จากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือน ม.ค.63 เนื่องจากระดับความเสี่ยงของภาพรวมทั่วโลกลดลง ทั้งในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดการเงิน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้น เร็วและแรงเกินไป ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวังถ้าการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเลื่อนออกไป เพราะเกิดการระบาดระลอกที่สอง ดังนั้น มองว่ายังเร็วเกินไปที่ SET จะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ เนื่องจากคาดว่ากำไรในปี 64 จะต่ำกว่าปี 62 นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่มก็เผชิญกับความท้าทายที่จะกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิด โควิด-19 ด้วย เนื่องจากภาพใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตต่ำ
นอกจากนี้หากพิจารณาจากมูลค่าหุ้นปัจจุบันมีระดับ PER ปี 63 เท่ากับ 16.8 เท่า หรือเท่ากับระดับ +1SD ของค่า PE เฉลี่ย 7 ปี ก็ถือได้ว่าสะท้อนผลการดำเนินงานของปี 63 ไปมากแล้ว จึงทำให้ประเมินว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/63 เริ่มจำกัด แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว เราประเมินเป้าหมายของ SET Index ในปี 64 ที่ระดับ 1,400-1,450 จุด
นายสุกิจ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงลดลง จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีอัตราชะลอตัวลง ขณะที่จำนวนผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นตามลำดับในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทย รวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดการเงิน และ ความเสี่ยงด้านเครดิต ที่ล้วนปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค. เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้เร่งออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน และ ภาคธุรกิจ รวมถึง มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและประชาชนที่รวดเร็วและมีขนาดของเม็ดเงินที่สูง หรือมากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้มีการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ชุด ดังนั้น จึงส่งผลทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นและกลับเข้าลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบ รวมถึงความเสี่ยงต่อเนื่องที่อาจจะตามมาได้อีก เช่น ล่าสุดเกิดขึ้นในตลาดน้ำมันดิบยังคงมีโอกาสกระทบบรรยากาศการลงทุนต่อไป แต่เชื่อว่าด้วยความพร้อมของมาตรการด้านต่าง ๆ จะทำให้โอกาสที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. นั้น มีโอกาสน้อยลง ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน ยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้น defensive และ คุณภาพสูง โดยยังคงมุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวและอัตราการฟื้นตัวในระยะสั้นยังไม่แน่นอนในสถานการณ์เช่นนี้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้น defensive ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจึงยังคงหุ้น top picks ที่เคยแนะนำไว้ในช่วงต้น ไตรมาสที่ 2/63 คือ BDMS BEM BTS CPF และ MINT แม้ราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่เชื่อว่าราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก เนื่องจากการดำเนินงานมีแนวโน้มที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะเดียวกันก็มีมุมมองระมัดระวังต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และมีความกังวลต่อกลุ่มธนาคารเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกำไรในอนาคตสูง
ทั้งนี้ คาดผลประกอบการฟื้นตัวในรูปแบบตัว U ส่วนตลาดหุ้นเหมือนกำลังฟื้นตัวในรูปแบบตัว V แนะนำเลือกลงทุนกลุ่มที่กำไรสุทธิมีโอกาสฟื้นตัวรูปแบบ V เมื่อประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยกำลังจะกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ อย่างน้อยคงทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น หากมีการเริ่มเปิดตั้งแต่เดือน พ.ค.63 ได้ตามที่คาด อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้ว GDP มักจะใช้เวลา 5-7 ไตรมาส ก่อนที่จะกลับคืนมาเติบโตตามปกติ นอกจากนี้การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่า (EBITDA) ก็จะใช้เวลามากกว่า 3 ไตรมาส ขณะที่ตลาดหุ้นกำลังสะท้อนภาพถึงการฟื้นตัวคล้ายในรูปแบบตัว V มากกว่ารูปแบบตัว U ซึ่งประเมินว่าการฟื้นตัวในปัจจุบันนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันต่อ upside ของตลาดหุ้นไทยในภาพรวม
ดังนั้น ด้วยระดับราคาในปัจจุบัน แนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่คาดว่ามีโอกาสฟื้นตัวในรูปแบบตัว V เช่น การขนส่งทางบกและราง ภาคการผลิต และ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ในขณะที่ใช้ความระมัดระวังในธุรกิจที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวรูปแบบตัว U เช่น ธุรกิจสายการบิน ท่าอากาศยาน โรงแรม และ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การท่องเที่ยว เพราะต้องใช้ความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงในการเดินทาง นอกจากนี้ ผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้บริโภคก็สะท้อนถึงปัจจัยกดดันระยะกลางต่ออุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ ยานยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากท่ามกลางกำลังซื้อที่ลดลง
ความเสี่ยงเรื่องการปรับลดประมาณการกำไรได้มีการสะท้อนผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์ไปบ้างแล้ว สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 63 โดยพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดได้มีการปรับลดประมาณการไปบ้างแล้วแต่อาจยังไม่ต่ำสุด ทั้งนี้ คงต้องรอดูข้อมูลและสถานการณ์ของโควิด-19 ประกอบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ตลาดมีการคาดว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุดในไตรมาส 2/63 และไตรมาส 3/63 ก่อนที่ผลกระทบจะลดลงในช่วงไตรมาส 4/63
สำหรับมุมมองล่าสุด คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (SET EPS) ปี 63 จะปรับตัวลดลง 22% จากปีก่อน โดยหลัก ๆ เกิดจากยอดขายที่หดตัวลง 16% ทั้งนี้ ตัวเลข SET EPS ปี 63 ยังต่ำกว่า consensus อยู่ 17% สะท้อนภาพว่าตลาดอาจมีการปรับลดประมาณการได้อีก ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 63 ประมาณการ SET EPS ปี 63 และ ปี 64 ถูกปรับลดลงมาแล้ว 26% และ 18% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ 13% ในปี 63 และ 8% ในปี 64 ดังนั้น คาดว่า SET EPS ปี 64 จะเติบโต 25% จากฐานต่ำในปี 63 ซึ่งสอดคล้องกับ EPS ของตลาดหุ้นภูมิภาคที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 30%
อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าของกำไรสุทธิของ SET อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับปี 62 จนกว่าจะถึงปี 65 สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ของบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และ ท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ยังคงต้องประเมินทิศทางของราคาน้ำมันดิบต่อไป
นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อไป คือ ความผิดหวังหากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจช้ากว่าคาด แม้จะเชื่อว่าการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น แต่ระดับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในปัจจุบัน ถือว่าได้มองข้ามผลกระทบของโควิด-19 ในปี 63 ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น จึงประเมินว่าตลาดอาจพบกับความผิดหวังในอนาคตบ้าง หากการกลับมาดำเนินธุรกิจไม่ได้เร็วตามที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้ รวมถึง ความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ตลาดยังไม่ได้รับรู้เท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่บวก ถ้าประเทศไทย และ ประเทศหลัก ๆ เช่น สหรัฐฯ จีน และ ยุโรป ไม่ประสบกับการระบาดระลอกที่สองหลังจากกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะทำให้มุมมองที่คาดว่า SET Index ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วมีน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายการปรับตัวลดลงในระยะสั้นที่มองไว้ก่อนหน้านี้ที่ 950 จุดไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไป