นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า AIS Business ในฐานะผู้นำบริการ ICT เพื่อองค์กรครบวงจร มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนาโซลูชั่นและบริการ AIS Cyber Secure เพื่อดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ CSOC ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับ Trustwave บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ อันดับต้นของโลก
พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ของเอไอเอสในการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าเอไอเอสทั้งฐาน ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับ แจ้งเตือน และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถเดินหน้าทำงาน ทำธุรกิจ ได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลเรื่องภัยไซเบอร์ เพราะมี AIS Business เป็นผู้ดูแลให้แล้ว
นอกจากนี้ กลุ่มบริการ AIS Cyber Secure ยังมีหลายหลายโซลูชันส์ที่พร้อม Customized ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็น
- Enterprise Mobility Management เครื่องมือช่วยบริหารจัดการการใช้งานบนมือถือให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท
- Network Firewall เครื่องมือ Firewall ที่เชื่อถือได้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ
- IT Log Management ศูนย์รวมการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตตามกฎหมาย
- Vulnerability Assessment & Penetration Testing ค้นหาช่องโหว่และจุดอ่อนใน Network ขององค์กร พร้อมทำหน้าที่เสมือนเป็นแฮกเกอร์เพื่อวินิจฉัยช่องโหว่ที่อาจมีอยู่ เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลและป้องกันจากแฮกเกอร์
นางยงสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ การโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยมีกลุ่มองค์กรและภาคธุรกิจตกเป็นเป้าหมายหลัก ยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทุกองค์กรต่างปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) พนักงานบางส่วนอาจมีความจำเป็นต้อง Access เข้าสู่ระบบของบริษัท จุดนี้กลับกลายเป็นช่องโหว่ที่มีความเสี่ยงให้เกิดภัยไซเบอร์ตามมา
โดยจากการสำรวจพบว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกในเดือน มี.ค.63 เพิ่มสูงขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.63 โดยองค์กรและธุรกิจที่ Work From Home ถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 127% และคาดว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกจะสร้างความเสียหายมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564
ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ, กลุ่มการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม, กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการจัดระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
"เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ขณะนี้และในอนาคตอันใกล้หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การดำเนินธุรกิจเกือบทั้งหมดจะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้น เรื่อง Cyber Security จะถูกยกระดับความสำคัญ กลายเป็น New Normal พื้นฐานหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทุกองค์กรต้องมี เพราะการมีระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็ง เชื่อถือได้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กรและธุรกิจอย่างแน่นอน" นายยงสิทธิ์กล่าว