นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า ทางบริษัท Airbus S.A.S หรือ แอร์บัส แจ้งมาแล้วว่าขอไม่ร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานของ บมจ.การบินไทย (TG MRO) เนื่องจากขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่แอร์บัสยังเข้ามาร่วมมือด้านเทคโนโลยีได้
ขณะที่โครงการ TG MRO มีความจำเป็นสำหรับ บมจ.การบินไทย (THAI) เพราะจะสามารถทำกำไรให้ ดังนั้นTHAI ยังยืนยันที่จะดำเนินโครงการ TG MRO ต่อ โดยจะเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมทุนแทน
นายโชคชัย กล่าวว่า โครงการ TG MRO แบ่งเป็นงานก่อสร้างที่กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนอาคารศูนย์ซ่อมอากาศยาน ส่วน THAI จะลงทุนเครื่องมือที่ใช้ในกิจการซ่อมอากาศยาน ทั้งนี้ งานก่อสร้างใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งขณะนี้กองทัพเรือและ EEC อยู่ระหว่างการออกแบบ ดังนั้น THAI มีเวลาเพียงพอที่จะหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้
อนึ่ง โครงการ MRO เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนา EEC โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมที่มีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีมูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.งานโครงสร้างพื้นฐาน และงานโยธา กองทัพเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบ วงเงิน 7,000 ล้านบาท ซึ่งกองทัพเรือจะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าพื้นที่ โดย THAI ต้องจ่ายค่าเช่าให้ในอัตราปีละ 3% ของมูลค่าการลงทุน 7,000 ล้านบาท พร้อมส่วนแบ่ง 1% ของรายได้ต่อปี 2.งานติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ทางเทคนิคต่าง ๆ วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท เบื้องต้นก่อนหน้านี้กำหนดว่า THAI กับแอร์บัส จะร่วมทุน 50:50 หรือ รายละ 2,000 ล้านบาท
โครงการ MRO จะดำเนินธุรกิจ 7 กิจกรรม คือ 1.การจัดตั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ครอบคลุมถึงการซ่อมใหญ่อากาศยาน การซ่อมอากาศยานระดับลานจอด การพ่นสีอากาศยาน 2.ศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมอากาศยาน 3.โรงซ่อมชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานแบบผสม 4.การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เป็นโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ 5.การจัดตั้งคลังอะไหล่และศูนย์โลจิสติกส์ 6.การออกแบบและก่อสร้างอาคารและศูนย์ซ่อมบำรุงฯให้เหมาะสม และ 7.การจัดตั้งโรงซ่อมบริภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงฯ ระดับลานจอด