สำหรับสัดส่วนรายได้หลักของเครือ THG ยังมาจากในประเทศ ซึ่งปัจจุบันความกังวลต่อการระบาดของไวรัสเริ่มลดลง และการรักษายังเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่สามารถขาดการตรวจเช็คเป็นระยะเวลานานได้ จึงเชื่อว่าทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัวได้ "เรายังไม่สามารถประเมินทิศทางผลประกอบการสำหรับภาพรวมทั้งปีได้ ทำได้เพียงการปรับแผนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนเท่านั้น และยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดด้วย โดยบริษัทเน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด"นายธนาธิป กล่าว บริษัทยังมีมาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีแผนที่จะจัดเตรียมพื้นที่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ ห้อง ICU ไว้จำนวนประมาณ 60 ห้อง รวมถึงจะสร้างโรงพยาบาลสนามสองแห่ง ซึ่งจะมีห้องทั้งหมดประมาณ 270 ห้อง โดยแห่งแรกจะสร้างบริเวณโรงพยาบาลธนบุรี 1 และแห่งที่สองจะสร้างที่ประชาอุทิศ ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย ห้องทำลายเชื้อความดันลบ ไม่ให้เชื้อหมุนเวียนกลับเข้าปอด นอกจากนี้ยังจะสร้างเซฟตี้โซนสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ในส่วนนี้จะอยู่ในโครงการของจิณณ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรังสิต สำหรับโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) ยอมรับว่าก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้สร้างยอดขายใหม่ได้เฉลี่ยเพียง 4-5 ยูนิตต่อเดือน จากเป้าหมายเดิมไม่น้อยกว่า 10 ยูนิต โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายแล้วกว่า 150 ยูนิต โดยสามารถทยอยโอนกรรมสิทธิ์ได้แล้วราว 109 ยูนิต ซึ่งในอีกราว 41 ยูนิต รวมมูลค่าประมาณ 205 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราคาขายยูนิตละ 5 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถทยอยโอนและรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดภายในปี 63 นี้ ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะที่ สปป.ลาว และ ประเทศเวียดนาม อาจต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถเดินทางไปเจรจาทำธุรกิจได้ ขณะเดียวกันแผนสร้างโรงพยาบาลใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-3 แห่ง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างในต่างจังหวัด โดยจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 700 - 800 ล้านบาท นั้น อาจต้องชะลอการลงทุนไปก่อนเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์มีความคงที่มากกว่านี้ก่อน ด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ CHG เปิดเผยว่า โรงพยาบาลในเครือของบริษัท และโรงพยาบาลเอกชนของไทย มีระบบการบริการ รวมถึงการรักษาที่เข้มแข็ง ถือว่ามีความพร้อมมากกว่าโรงพยาบาลรัฐในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนของบริษัท ได้มีการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไว้รองรับตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 63 แล้ว อีกทั้งยังได้เตรียมเตียงเฝ้าระวังผู้ป่วยไว้กว่า 270 เตียง ซึ่งมีการใช้งานเพียง 20 กว่าเตียง และห้อง ICU จำนวน 25 ห้อง และจะเพิ่มใหม่อีก 25 ห้อง ปัจจุบันมีการใช้ห้องเพียง 3-4 ห้องต่อวันเท่านั้น ถือว่าการรับมือไวรัสโควิด-19 ได้ เพราะผู้ป่วยน้อยกว่าที่คิดไว้มาก