TK เดินหน้าซื้อ MFIL ราว 450 ลบ.หวังขยายฐานลูกค้าในเมียนมา ยันเงินทุนเพียงพอจากกำไร-กระแสเงินสด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 29, 2020 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า จากการประชุมสามัญประจำปี 63 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 0.55 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 275 ล้านบาท หรือ Dividend Yield ณ วันปิดสมุดทะเบียน 12 มีนาคม 2563 ที่ 6.8% คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ของกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมา

และมีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการของ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา โดย บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด บริษัทในเครือ TK ซึ่งได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการธุรกิจไมโครไฟแนนซ์เมื่อเดือน เม.ย.62 ได้ทำสัญญาเข้าซื้อหุ้น MFIL ในสัดส่วน 100% ด้วยมองเห็นโอกาสการเติบโตที่น่าสนใจและผลประกอบการของธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา ประกอบกับพิจารณาเห็นว่า MFIL จะสามารถเป็นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและช่วยเสริมเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของ TK ในภูมิภาคแถบนี้ ด้วยช่องทางการให้บริการที่อยู่ในเมืองสำคัญ ๆ ของเมียนมา

"การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ TK สามารถดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ได้อย่างเต็มรูปแบบในหลายรัฐและครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ในเมียนมา ซึ่งการขยายธุรกิจในเมียนมานี้เป็นไปตามแผนการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของ TK คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2.1 หมื่นล้านจ๊าด หรือไม่เกิน 450 ล้านบาท ในดีลดังกล่าว และกระบวนการซื้อกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/63 ทำให้ TK มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 7% และทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของสินเชื่อทั้งหมดจากปัจจุบัน 17%"นางสาวปฐมา กล่าว

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบกับผลการดำเนินงานของ TK และไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากเงินที่ใช้ในการลงทุนจะใช้แหล่งเงินจากกระแสเงินสดและกำไรจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพียงพอรองรับการทำธุรกรรมดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน ซึ่งในด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เมียนมาจะยังคงใช้ทีมบริหารยังเป็นชุดเดิมของ MFIL โดยที่ทาง TK จะเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่สำคัญๆในระยะแรกเท่านั้น

การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญสำหรับการเติบโตแบบ inorganic growth โดย TK มีกลยุทธ์ที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรในระยะกลาง-ยาว ขณะที่ลูกค้าของ MFIL ทั้งหมดเป็นรายย่อย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับของ TK ซึ่งจะช่วยเสริมกันและกัน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ในการขยายการลงทุน และจะเป็นฐานธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่ต้องอาศัยการเจาะตลาดท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากไทยอยู่พอสมควร

ตลาดเมียนมาถือว่าเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาค โดย MFIL มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 70,000 ราย ในรัฐสำคัญๆที่รัฐบาลเมียนมาเข้มงวดในการออกใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการดังกล่าว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอขยายสาขาเพิ่มในรัฐอื่นๆอีก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับการเจริญเติบโตที่จะเกิดขึ้น เมียนมามีประชากรกว่า 53 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินนั้นถือว่ายังน้อยอยู่ที่ 20-30% เทียบกับประเทศไทยอยู่ที่เกือบ 100% ทำให้ตลาดเมียนมาอยู่ในช่วงการเติบโต ธุรกิจสถาบันการเงินของเมียนมายังมีโอกาสให้ขยายจำนวนฐานลูกค้าได้อีกมาก ในขณะที่ตลาดไทยมีการแข่งขันสูง แม้ว่า MFIL ตอนนี้กำไรจะยังไม่มาก แต่อนาคต ในเรื่องศักยภาพในการขยายธุรกิจสูงมาก ซึ่ง TK ได้เล็งเห็นโอกาสและได้เริ่มไปเปิดธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมา ตั้งแต่ปี 57 เป็นเวลา 6 ปีแล้ว

"TK ยังคงเดินหน้าบริหารธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ทั้งการขยายสาขาในประเทศที่ดำเนินกิจการอยู่ และการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศใหม่ๆในทุกรูปแบบของการลงทุนเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง"นายประพล กล่าว

สำหรับธุรกิจของ MFIL เป็นหนึ่งในบริษัทไมโครไฟแนนซ์ที่มีชื่อเสียงในเมียนมา ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล บริษัทก่อตั้งในปี 57 ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 13 สาขา มีฐานลูกค้าประมาณ 70,000 ราย ครอบคลุมรัฐที่สำคัญ ได้แก่ Yangon , Bago และ Mon รวมถึงมีแผนงานจะเปิดสาขาเพิ่มใน Ayeyarwady และ Mandalay

นอกจากนี้ยังมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้บริษัทสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในตลาดที่มีความน่าสนใจและเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สามารถเพิ่มกำไรต่อหุ้น (EPS) และผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ของ ฐิติกร ได้ทันที โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 62 MFIL มีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2.19 หมื่นล้านจ๊าด หรือ 439 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ