SCC ทบทวนเป้ายอดขายปี 63 อาจหดตัวกว่า 6% จากพิษโควิด พร้อมหั่นงบลงทุนปีนี้ แต่ไม่ทิ้ง M&A-เดินหน้าปิโตรฯเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 29, 2020 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีจะทบทวนเป้าหมายอดขายปี 63 จากเดิมคาดว่าใกล้เคียงระดับ 4.38 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นอาจจะหดตัวมากกว่าไตรมาส 1/63 ที่ทำยอดขายได้ 1.06 แสนล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพียงแค่ในเดือน มี.ค. ขณะที่สถานการณ์ยังมีแนวโน้มที่ลากยาว พร้อมตัดลดค่าใช้จ่ายลงทุนปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาทเพื่อบริหารสภาพคล่อง โดยยังไม่ทิ้งโอกาสการซื้อกิจการ (M&A) แต่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ เวียดนามยังคงเดินหน้าต่อ หลังขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 33-34%

"การปรับเป้าตอนนี้เรารู้ว่าต้องปรับ แต่ไม่รู้ว่าต้องปรับขนาดไหนเท่าไหร่ สิ่งที่เห็นคือในไตรมาสแรก ยอดขายเราหายไปสัก 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่จะพูดคือเรามองว่าผลกระทบจากโควิดเราเพิ่งเห็นแค่เดือนเดียวก็ลบ 6% ถ้าเห็นหลาย ๆ เดือนก็คงจะมากกว่า 6% คำถามคือว่าจะเห็นอย่างนี้อีกกี่เดือน เป็นสิ่งที่ตอบไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าโควิดจะอยู่กับเรานาน แต่ไม่รู้นานขนาดไหน และไม่รู้ว่าการที่ลงไปลึก ความหมายคือยอดขายหายไปมันลึกกว่านี้ขนาดไหน เป็นสาเหตุที่บอกว่าต้องปรับเป้าไหม ใช่ ในการทำงานต้องปรับเป้าแน่นอน เพียงแต่ยังนึกไม่ออกว่าจะปรับขนาดไหน อย่างไร"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนมากในช่วงไตรมาสแรก เพราะเพิ่งเริ่มเห็นผลกระทบในช่วงเดือน มี.ค.เท่านั้น โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในระยะต่อไปอาจถูกกระทบจากในส่วนสินค้าแฟชั่น หรือสินค้าที่ไม่ได้ใช้เพื่อความจำเป็นในการบริโภคมากนัก

ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์ที่ผลิตเพื่อรองรับของใช้ในชีวิตประจำวันยังคงไปได้ แต่หากเป็นการผลิตเพื่อกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็น อย่างกลุ่มยานยนต์ก็จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป ขณะที่สถานการณ์ธุรกิจก็ยังคงมีความผันผวน จากราคาน้ำมันที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ก็จะกระทบต่อเนื่องถึงผลิตภัณฑ์เคมิคอลส์ด้วย อย่างไรก็ตามยังต้องรอดติดตามสถานการณ์ในจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้เคมิคอลส์รายใหญ่ของโลก ในช่วงไตรมาส 2-3 ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ความต้องการหายไปเกือบทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรก

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงไตรมมาสแรก แต่ก็เริ่มเห็นความท้าทายในระยะถัดไป โดยเฉพาะในภาคเอกชน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังคาดหวังภาครัฐบาลจะยังคงนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะมีส่วนช่วยพยุงความต้องการใช้สินค้าให้ประคองตัวได้จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง ซึ่งในช่วงนี้ก็หวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณออกมามากขึ้น ขณะที่ในเอสซีจีก็ปรับตัวหันเข้าหาตลาดออนไลน์ และสินค้านวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน

สำหรับการใช้กำลังการผลิตของเอสซีจี ในปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยการลดการใช้กำลังการผลิตยังมีไม่มาก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ของเอสซีจีเป็นการบริหารซัพพลายเชนได้ดี โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์ แม้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ ช่วงไตรมาส 1/63 จะหดตัวลง 5% แต่เอสซีจีก็ไม่มีแผนที่ลดการผลิตเพราะยังมีเครือข่ายในต่างประเทศที่สามารถส่งของออกไปได้ ซึ่งคงต้องดูสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามเอสซีจี จะพยายามทำงานเต็มที่เพื่อให้หาจุดที่สามารถปรับการดำเนินธุรกิจได้ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการจ้างงานของพนักงานด้วย

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้ อันดับแรก เป็นเรื่องของสุขภาพพนักงานที่ต้องแข็งแรง และปลอดภัยจากโควิด-19 ,ปรับลดค่าใช้จ่าย และทบทวนการลงทุนอย่างระมัดวัง โดยโครงการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะยังเดินหน้าต่อ ส่วนโครงการที่คาดว่ารอดูผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนได้ก็จะชะลอออกไปทั้งหมด ,การกำหนดลำดับความสำคัญของธุรกิจ เน้นเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นหลัก เน้นการทำงานที่ปรับตัวรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการหันมาขายในลักษณะออนไลน์มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีเรื่องดิจิทัลบล็อกเชนมาใช้เพื่อให้มีขั้นตอนที่สะดวกขึ้น

ส่วนในอนาคตวิกฤติโควิด-19 นับว่าเป็นความท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในประเทศที่มีความต้องการพัฒนาอุตสหากรรมให้มีความเข้มแข็ง ก็มองว่าจะเป็นโอกาสที่เอสซีจีจะสร้างการเติบโตได้ในอนาคต

ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน ของเอสซีจี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เอสซีจีนทบทวนแผนลงทุน โดยปรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปีนี้เหลือประมาณ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 6-7 หมื่นล้านบาท และพร้อมที่จะปรับลดลงอีกด้วยความระมัดระวังหากสถานการณ์แย่ลงกว่านี้ แต่ในส่วนของ M&A ที่เป็นกลยุทธ์สำคัญระยะยาวนั้นก็จะดำเนินการอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน แม้ขณะนี้จะมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งก็ตาม

ทั้งนี้ ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่งดังกล่าว ทำให้เอสซีจีไม่มีแนวทางที่จะใช้วงเงินจากกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

"ส่วนการทำ M&A ใช้ความระมัดระวัง อะไรที่เป็น strategic จริง ๆ อะไรที่เป็น long term ที่จริงช่วงนี้ก็ถือว่ามีควมเป็นไปได้ บริษัทยังมีฐานะการเงิน มี cash on hand ค่อนข้างเยอะ เพื่อที่จะรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นใน 6-12 เดือน แต่ก็เป็นไปอย่างระมัดระวัง อยู่ในโทนที่เราอยากให้เห็น แต่ไม่ใช่จะหยุดหมด แต่เราต้องเลือกด้วยความระมัดระวัง"นายธรรมศักดิ์ กล่าว

นายธรรมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารสภาพคล่อง เอสซีจีได้พิจารณาทั้งซัพพลายเชน โดยปัจจุบันปรับลดสต็อกผลิตภัณฑ์ลงในระดับ 3-5% พร้อมกับการบริหารด้านความเสี่ยงทางการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

ขณะที่การดำเนินงานในอาเซียนนั้นยังเป็นไปได้ดี โดยรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1/63 คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอาเซียนแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน อย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สถานการณ์ระบาดค่อนข้างหนัก และมีการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เวียดนามและกัมพูชา มีระดับการแพร่ระบาดที่น้อยกว่า

สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนามนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 33-34% ซึ่งเอสซีจีก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในเวียดนามได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น และเศรษฐกิจก็ยังไปได้ดี อย่างไรก็ตามเอสซีจีได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ก่อสร้างเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ

ความคืบหน้าการนำบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น หลังจากได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เมื่อปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการออกไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ แม้จะมีการให้ข้อมูลผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเร้นซ์แต่ก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ทำให้การสร้างความเข้าใจและการทำการตลาดก็อาจจะต้องล่าช้าออกไปบ้าง ซึ่งเอสซีจีก็จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ