คณะกรรมการ บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) (ATC) และ บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) มติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติให้ดำเนินการควบรวมกิจการกัน และให้ดำเนินการโอนบัตรส่งเสริมการลงทุนไปให้แก่บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม พร้อมทั้งเสนอเรื่องการควบรวมบริษัทต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาต่อไป
ในการควบรวมระหว่าง ATC และ RRC จะมีการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และ ผู้ถือหุ้นของ RRC ที่มี ชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทดังกล่าว ณ เวลาที่กำหนดของวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมกันของบริษัทฯ และ RRC โดยจะจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมใน ATC ต่อ 1.524428135 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน RRC ต่อ 0.516755300 หุ้นใน บริษัทใหม่
รวมทั้งจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ออกเสียงคัดค้านการควบบริษัท ตามพระราชบัญญัติบริษัท มหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 บมจ. ปตท.(PTT) มีจดหมายแสดงเจตจำนงในการเป็นผู้รับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่คัดค้านการควบบริษัท โดยราคาหุ้นสามัญของ ATC ปตท. จะรับซื้อจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบบริษัทต้องไม่เกินกว่า 65 บาทต่อหุ้น
ขณะเดียวกัน RRC แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเป็ฯเอกฉันท์อนุมัติให้ดำเนินการควบรวมบริษัทกับ ATC เช่นกัน ดำเนินการจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของบริษัทฯ จากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่ออกเสียงคัดค้านการควบรวม ปตท. จะรับซื้อจากผู้ถือหุ้น RRC ที่มีสิทธิขายต้องไม่เกินกว่า 22 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาในการรับซื้อวันที่ 26 ก.ย.-9 ต.ค.2550
นอกจากนี้บริษัทจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบริษัทฯ และ ATC เพื่อศึกษา และดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับ การประสานระบบงาน การบริหารจัดการ การพนักงาน ระบบบัญชี และระบบภายในอื่น ๆ ของบริษัทฯ กับ ATC เพื่อกำหนดโครงสร้างของบริษัทใหม่
ทั้งนี้ บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม ATC และ RRC จะมีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 29,938,490,130 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 2,993,849,013 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยทุนจดทะเบียนของบริษัทใหม่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนได้แก่ จำนวนทุนชำระแล้ว คือ 29,636,261,320 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จำนวน 2,963,626,132 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชำระแล้วทั้งหมดของ ATC และของ RRC รวมกัน
อีกส่วนจำนวนทุนที่ ยังมิได้ชำระ คือ 302,228,810 บาทแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญที่ยังมิได้ชำระทั้งหมดจำนวน 30,222,881 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งคำนวณมาจากจำนวนหุ้นของ ATC และของ RRC ที่ได้จัดสรรเตรียมไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ ATC และของ RRCคูณด้วยอัตราส่วนการแลกหุ้นของ ATC
ATC แต่งตั้ง บริษัท ทรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ (2001) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นในการพิจารณาลงมติเกี่ยวกับการควบรวมบริษัทฯ ส่วน RRC อนุมัติให้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัททั้งสองบริษัทอนุมัติให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2550 โดยเสนอให้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13
กันยายน 2550 โดยให้กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนงดรับลงทะเบียนการโอนหุ้นของบริษัทฯ เพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2550 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2550
**คาดควบรวมกันสร้างประโยชน์ราว 169-348 ล้านเหรียญ/ปี
ATC และ RRC คาดว่า การควบรวมบริษัทจะก่อให้เกิด Synergy มากขึ้น เนื่องจากบริษัทใหม่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร จัดการ ลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยเงินลงทุนที่ไม่มีความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของบริษัท ยูโอพี จำกัด (UOP) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีเป็นที่ปรึกษาโครงการ และข้อมูลการศึกษาล่าสุดที่ทางบริษัทฯ และ RRC ร่วมกันจัดทำปรากฏว่าทั้ง 2 บริษัทสามารถสร้างผลประโยชน์ (Synergy) ร่วมกันได้อีก ประมาณ 169 - 348 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยใช้เงิน ลงทุนรวมประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากไม่มีการควบบริษัท บริษัทฯ และ RRC จะไม่สามารถรับรู้ผลประโยชน์จาก Synergy ได้เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดในการดำเนินการลงทุน การซื้อขายสินค้าระหว่างกัน และการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน และข้อจำกัดจากการที่ทั้งสองฝ่ายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีผู้ถือหุ้นรายย่อย
นอกจากนี้ จะเพิ่มความสมดุลและความหลากหลายของรายได้ ทั้งจากธุรกิจ ปิโตรเคมีและโรงกลั่น ทำให้ความสามารถในการหารายได้มั่นคงและต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการด้านการเงินและการผลิต ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน อันจะส่งผลดีต่อการเติบโตของ บริษัทฯในระยะยาว
บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบจะมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ภาระหนี้สินโดยรวมของบริษัท ใหม่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของสินทรัพย์ และมีศักยภาพเหลือค่อนข้างมากสำหรับ การก่อหนี้เพื่อการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคต
รวมทั้ง บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาของหุ้น และทำให้หุ้นบริษัทใหม่ได้รับความสนใจจากนัก ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--