ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วย ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนด
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรถไฟฟ้า ในขณะที่การได้รับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนออกไปจนถึงปี 2578 ช่วยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัทจากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าผลกระทบในเชิงลบจาก โควิด-19 เป็นเรื่องชั่วคราว และสถานะทางธุรกิจของบริษัทในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ในปี 2562 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.24 ล้านเที่ยวต่อวัน และรายได้ค่าผ่านทางบนระบบทางด่วนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.3% อยู่ที่ 28.23 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2563 มาตรการของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณจราจรและรายได้ธุรกิจทางด่วนลดลงอย่างมาก ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยลดลง 11% อยู่ที่ 1.12 ล้านเที่ยวต่อวัน และรายได้ค่าผ่านทางบนระบบทางด่วนโดยเฉลี่ยลดลง 11.8% อยู่ที่ 25.31 ล้านบาทต่อวัน
สำหรับธุรกิจรถไฟฟ้า การเปิดส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วยสนับสนุนการเติบโตของทั้งจำนวนผู้โดยสารและรายได้ ในปี 2562 อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของผู้โดยสารอยู่ที่ระดับ 8.2% จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 แสนเที่ยวต่อวันและรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ 8.67 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2563 ทั้งจำนวนผู้โดยสารและรายได้ยังเติบโตได้แม้จะได้รับผลกระทบรุนแรงในเดือนมีนาคมจากมาตรการปิดเมือง โดยจำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.4% อยู่ที่ 3.31 แสนเที่ยวต่อวันและรายได้ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 7.8% อยู่ที่ 8.82 ล้านบาท
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้ อยู่ที่ 1.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3% มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) อยู่ที่ 8 พันล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ 7 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 8% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วที่ 59%
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และฐานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจของบริษัทจะฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และมีภาระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดจากแผนการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมากในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ทั้งจากผลการดำเนินงานที่อ่อนลงหรือจากการลงทุนโดยการก่อหนี้ในระดับสูง