ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ที่ระดับ "BBB+" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "BBB" ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงสถานะที่ด้อยกว่าของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันเมื่อเทียบกับหนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัท โดยอัตราส่วนหนี้สินที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทอยู่สูงกว่าระดับ 20% ตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ตลอดจนมูลค่างานในมือที่มีจำนวนมากพอสมควร และความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากการที่บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูงและระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและความเป็นไปได้ที่การประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐจะล่าช้าอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น
ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากความพยายามอย่างจริงจังของบริษัทในการพัฒนาคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูลงาน โดยบริษัทได้ร่วมมือกับผู้รับเหมาชั้นนำจากประเทศจีนในการประมูลงานโครงการก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่กว่าโครงการปกติของบริษัทเพื่อช่วยเพิ่มความยอมรับเกี่ยวกับผลงานในการประมูลและการส่งมอบโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยบริษัทได้รับการยอมรับจากแวดวงอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นหลังจากส่งมอบงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ซึ่งช่วยกรุยทางให้บริษัทได้รับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น
ในเวลาต่อมาบริษัทยังชนะการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทางรางขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ ซึ่งช่วยให้สถานะทางการตลาดของบริษัทเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี) ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกที่บริษัทยื่นประมูลโดยไม่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายใด ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 เมื่อพิจารณาจากรายได้และขนาดของสินทรัพย์
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทจะยังคงเน้นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะในช่วงหลายปีข้างหน้า
มีการกระจุกตัวทางธุรกิจในระดับสูง
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการกระจุกตัวทางธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยงานในมือของบริษัทประกอบไปด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการ โครงการขนาดใหญ่ที่สุด 3 โครงการมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่างานในมือของบริษัท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการส่งมอบงานเพียง 1 โครงการหรือมากกว่า หรือเกิดเหตุขัดข้องที่มีนัยสำคัญที่ทำให้โครงการใดโครงการหนึ่งเกิดความชะงักงันก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทน่าจะยังคงเน้นงานก่อสร้างในโครงการภาครัฐต่อไปสำหรับกลยุทธ์การเติบโต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะมีแนวโน้มที่ดีในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ แต่กรอบเวลาในการดำเนินโครงการยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ความล่าช้าทั้งในด้านการประมูลงาน ตลอดจนการแต่งตั้งผู้รับเหมาในสัญญาต่าง ๆ หรือความล่าช้าในการดำเนินโครงการอาจส่งผลบั่นทอนการเติบโตของบริษัทได้
การแข่งขันมีความรุนแรงและการประมูลงานมีความล่าช้า
ในปี 2562 การก่อสร้างภายในประเทศขยายตัวที่ระดับ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวที่ระดับ 2.4% ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวเพียง 1.4% ทั้งนี้ การก่อสร้างภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักเนื่องจากการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของภาคการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเหลืออยู่จำนวนมากก็ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อสร้างภาคเอกชนภายในประเทศน่าจะยังคงซบเซาต่อไปอีกในระยะใกล้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการก่อสร้างภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของการก่อสร้างภายในประเทศ
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการก่อสร้างภายในประเทศประกอบไปด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าและใช้เวลานานรวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ความล่าช้าของกระบวนการออกพระราชบัญญัติงบประมาณของภาครัฐส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากความล่าช้าในการประมูลโครงการและการแต่งตั้งผู้รับเหมา
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีความเห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ก็อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่กดดันต่อสภาวะเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเสี่ยงในหลายมิติ เช่น การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่มีความล่าช้าออกไปจากเดิม งานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการมีการขัดจังหวะ หรือแม้กระทั่งการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลงได้
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วงระยะปานกลาง โดยทริสเรทติ้งมองว่างบลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
รายได้จะลดลงในระยะสั้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2563 จะลดลง โดยความล่าช้าของโครงการขนส่งมวลชนหลาย ๆ โครงการส่งผลให้สัญญาก่อสร้างใหม่ของบริษัทลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน การเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปอย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 9.5 พันล้านบาทในปี 2563 และจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2564-2565 งานในมือของบริษัทจำนวนมากที่ประมาณ 1.73 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 จะช่วยป้องกันการลดลงอย่างมากของรายได้ ส่วนในด้านของกำไรนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.9 พันล้านบาทในปี 2563 และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 ทั้งนี้ ในระยะปานกลางถึงระยะยาว บริษัทน่าจะได้ประโยชน์จากความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก
ความสามารถในการทำกำไรจะยังคงแข็งแกร่ง
บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทอยู่ในช่วง 19%-22% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าผู้รับเหมาชั้นนำรายอื่น ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพเอาไว้ได้ โดยการรวมศูนย์ต้นทุนไว้ที่ส่วนกลางช่วยให้บริษัทรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุและการจัดซื้อ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัสดุอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามทำให้ต้นทุนมีความยืดหยุ่นด้วยการใช้ผู้รับเหมาช่วงจำนวนมาก โดยกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทมีต้นทุนคงที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทสามารถลดหรือขยายการรับงานได้ตลอดช่วงวงจรของอุตสาหกรรมด้วยการปรับจำนวนงานรับเหมาช่วง แต่ในด้านลบ กลยุทธ์ดังกล่าวก็อาจทำให้บริษัทประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้
การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 19%-20% ในช่วงปี 2563-2565 ลดลงจาก 22% ในปี 2562 ระดับการทำกำไรดังกล่าวนั้นแม้จะลดต่ำลงแต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของผู้รับเหมาชั้นนำรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับจากทริสเรทติ้งนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 12% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น
ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่บริษัทชนะการประมูลงานก่อสร้างภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ขึ้น งานก่อสร้างโครงการภาครัฐโดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างและการชำระเงิน รวมถึงการปรับแบบระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้ บริษัทยังต้องประสบกับความล่าช้าในการตรวจรับงานโดยเจ้าของโครงการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางส่วนอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทจะลดลงหลังจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2563 โดยภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40%-50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากระดับ 56.7% ในปี 2562
กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินของบริษัทน่าจะด้อยลงเล็กน้อยจากการที่กำไรลดต่ำลง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 4.5 เท่าในปีนี้และจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22%-29% ในช่วงปี 2564-2565
สภาพคล่องสามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยหนี้สินเกือบประมาณ 60% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทเป็นเงินกู้โครงการระยะสั้นจากธนาคาร ซึ่งเงินกู้โครงการจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นของระยะเวลาในการชำระหนี้ บริษัทไม่มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2563 ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาวะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันที่ผันผวนลงไปได้ ทั้งนี้ บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2563 จำนวน 900 ล้านบาทซึ่งน่าจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาทมาชำระได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีเงินสดและวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกันประมาณ 5.5 พันล้านบาท
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่า ซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1.4 เท่า ซึ่งด้วยส่วนต่างที่มีมากพอสมควรนี้ ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดช่วงประมาณการ
สมมติฐานพื้นฐาน
บริษัทจะได้สัญญาโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่าประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
มูลค่างานในมือของบริษัทมากกว่า 90% จากทั้งหมด (1.73 หมื่นล้านบาท) จะรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 19%-20%
เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในโครงการก่อสร้างภาครัฐต่อไปได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการก่อหนี้ของบริษัทจะลดลงเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อสร้างแล้วเสร็จ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มฐานรายได้ให้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและลดการพึ่งพิงโครงการเพียงไม่กี่โครงการลง ในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรให้แข็งแกร่งรวมถึงควบคุมระดับการก่อหนี้เอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมากซึ่งอาจเป็นผลมาจากความล่าช้าของโครงการ หรือต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงกว่าคาด หรือการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนที่ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5 เท่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง