นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ปรับลดการคาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2563 เป็น 362,000 บาร์เรล/วัน ลดลงประมาณ 7% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 391,000 บาร์เรล/วัน รวมถึงปรับลดรายจ่ายการลงทุนของปี 2563 ประมาณ 15-20% จากเดิมที่ตั้งไว้ 4,613 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 143,012 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนและเลื่อนแผนการเจาะสำรวจในบางโครงการออกไป แต่จะยังคงรายจ่ายสำหรับรักษาระดับการผลิตตามสัญญาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมถึงรายจ่ายเพื่อพัฒนาโครงการที่พร้อมผลิตใน 3-4 ปีข้างหน้า อาทิ โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 และการเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมในแหล่งก๊าซ ลัง เลอบาห์ ในแปลงเอสเค 410บี ประเทศมาเลเซีย
"การดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตฯ ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ท้าทาย ความสำเร็จในการปรับลดต้นทุนในอดีตเมื่อครั้งบริษัทเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนปัจจุบันของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบเคียงกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน อย่างไรก็ตามวิกฤติครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของราคาน้ำมัน แต่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง การมุ่งสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนของบริษัทคงไม่ใช่แค่เพียงการปรับลดต้นทุน แต่จะต้องมุ่งเน้นการปฏิรูประบบและพฤติกรรมการทำงานขององค์กร เพื่อให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสะท้อนต่อโครงสร้างต้นทุนของบริษัทในอนาคตที่จะมีความยืดหยุ่น ให้รองรับได้ทุกสถานการณ์"นายพงศธร กล่าว
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีผลิตภัณฑ์หลัก 70% เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อขั้นต่ำไว้แล้ว และกำหนดราคาขายในหลายโครงการกับคู่สัญญาไว้แล้ว โดยโครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.ผูกกับราคาน้ำมันส่วนหนึ่งและย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน ส่วนของน้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณการขายประมาณ 30% ของปริมาณการขายทั้งหมด อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งบริษัทได้มีการทำสัญญาประกันความเสี่ยงด้านราคาในปีนี้ไว้แล้วบางส่วน
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 2563 ถือได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี จากสองวิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ได้แก่ วิกฤติทางด้านอุปสงค์จากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง และวิกฤติทางด้านอุปทานน้ำมันล้นตลาดภายหลังสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่ประกาศจุดยืนในการผลิตน้ำมันเต็มกำลัง โดยคาดว่าวิกฤติดังกล่าวจะรุนแรงที่สุดในไตรมาส 2/63 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิด-19 มากที่สุด คาดว่าในเดือนเมษายน อาจเกิดภาวะอุปทานล้นตลาดมากกว่า 20 ล้านบาร์เรล/วัน จนทำให้คลังสำรองน้ำมันของโลกไม่เพียงพอที่จะเก็บน้ำมันดิบส่วนเกินนั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันจำนวนมากที่มีต้นทุนการผลิตในระดับสูง ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลง
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง จากการที่หลายประเทศเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงและมีความสมดุลขึ้นภายหลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ การที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกมีนโยบายการลดและชะลอการลงทุนออกไปเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ตกลงอย่างมาก ยิ่งส่งผลให้การเติบโตของอุปทานน้ำมันโลกคาดว่าจะช้าลง ดังนั้น คาดว่าราคาน้ำมันจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 และจะฟื้นกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังจากอุปสงค์ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวและอุปทานที่เติบโตน้อยลง โดยมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ราว 35-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของปตท.สผ. ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขายและต้นทุน ปตท.สผ.ได้ติดตามและปรับเปลี่ยนแนวโน้มผลการดำเนินงานสำหรับปี 2563 ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดการณ์ว่าปริมาณขายปิโตรเลียมในไตรมาส 2/63 จะอยู่ที่ 349,000 บาร์เรล/วัน และทั้งปี 2563 ที่ 362,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ประเมินราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในไตรมาส 2/63 และทั้งปี 2563 ที่ประมาณ 6.2 และ 5.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ด้านต้นทุน สำหรับไตรมาส 2/63 และทั้งปี 2563 ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตามสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่คาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในปี 2563 อยู่ที่ 65-70% ของรายได้จากการขาย
นายพงศธร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,771 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 55,335 ล้านบาท) ลดลงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับ 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 55,707 ล้านบาท) ในไตรมาส 4/62 โดยหลักมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 363,411 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับ 395,028 บาร์เรล/วัน ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการเรียกรับก๊าซธรรมชาติจากโครงการในอ่าวไทยจากผู้ซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสนี้ ลดลงมาอยู่ที่ 44.81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับ 48.28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ในไตรมาสนี้ บริษัทมีกำไรจากอนุพันธ์ทางการเงิน 222 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันที่บริษัทได้เข้าทำสัญญาล่วงหน้า ในขณะที่สามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ระดับ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีรายจ่ายทางภาษีเงินได้จากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 225 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผลประกอบการของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 275 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 8,612 ล้านบาท) ลดลง 28% เมื่อเทียบกับ 384 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 11,620 ล้านบาท) ในไตรมาส 4/62 โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 981 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 38,093 ล้านบาท) และมีระดับ EBITDA Margin ที่ 72%
ขณะที่ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิลดลง 30% จากระดับ 394 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 24% จากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการมาเลเซียและกลุ่มพาร์เท็กซ์จากการเข้าซื้อธุรกิจ ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลงจากระดับ 46.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/62
ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ปตท.สผ. มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มากกว่า 40 โครงการใน 15 ประเทศ