ASP คาด GDPไทย Q1 -Q2 ปี 63 ติดลบ-เข้าสู่ Technical recession เชื่อมาตรการกระตุ้นศก.ช่วย GDP ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 5, 2020 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยถึง "Economic Update" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีการประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ออกมา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีความน่ากังวล โดยเฉพาะตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้สะท้อนถึงภาพการเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Technical recession หรือขนาดของ GDP หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส โดยประเทศที่มีการประกาศตัวเลข GDP ออกมาและเข้าสู่ Technical recession แล้ว ได้แก่ ฝรั่งเศส ในไตรมาส 1/63 ติดลบ 5.8% จากไตรมาส 4/62 ติดลบ 0.1%, อิตาลี ไตรมาส 1/63 ติดลบ 4.7% จากไตรมาส 4/62 ติดลบ 0.3%

ส่วนประเทศที่ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 ติดลบ แต่ไตรมาส 4/62 ไม่ได้ติดลบ ได้แก่ สเปน สหรัฐ และยูโรโซน ซึ่งหากตัวเลขในไตรมาส 2/63 ติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ก็จะเข้าสู่ภาวะดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันโซนเอเชีย ประเทศแรกที่เข้าสู่ Technical recession คือ ฮ่องกง ที่มีการประกาศตัวเลข GDP ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังประกาศในไตรมาส 3/62 และในไตรมาส 1/63 ก็ประกาศตัวเลขติดลบ 5.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งประเทศในเอเชียที่มีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 ติดลบ ได้แก่ สิงค์โปร ที่ติดลบ 10.6%, จีน ติดลบ 9.8% และเกาหลีใต้ ติดลบ 1.4% ซึ่งหากมีการประกาศติดลบในไตรมาสที่ 2 ก็จะเข้าสู่ภาวะ Technical recession เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ประเทศไทย จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 ในวันที่ 18 พ.ค.63 คาดว่าจะเห็นตัวเลขติดลบ Quarter on Quarter เป็นครั้งแรก และยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไตรมาส 2/63 น่าจะติดลบต่อ เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเม.ย.-พ.ค.63 และน่าจะกระทบต่อเนื่องมาในเดือนมิ.ย.63 แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตามเดิม โดยหากไทยประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/63 ติดลบ และไตรมาส 2/63 ติดลบต่อ ก็จะทำให้ภายหลังประกาศไตรมาส 2/63 ไทยจะเข้าสู่ภาวะ Technical recession ได้

อย่างไรก็ตามมองปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาวะทางเศรษฐกิจของไทย คือการใช้มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ลงสู่ภาค Real Sector และอีก 9 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบการเงิน ผ่าน Soft Loan กองทุน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น คาดว่าจะช่วยดันตัวเลข GDP ฟื้นตัวดีขึ้น แต่มองว่าภาพโดยรวมทั้งปียังติดลบอยู่

"มองว่าการฟื้นตัวของภาค Real Sector น่าจะต้องใช้ระยะเวลา หรือค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจตอนนี้ ที่เป็นเครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุด คือ Consumtion ที่ยังชะลอตัวอยู่ ซึ่งต้องได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ดีขึ้น ภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้น มองว่ายังต้องใช้เวลา หรืออย่างน้อยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือไตรมาส 4/63 กว่าที่แรงหนุนจะเริ่มฟื้นกลับมา แต่ยังต้องดูสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะจบลงได้เมื่อไหร่ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในไตรมาส 4 นี้อาจจะเริ่มเห็นการพลิกตัวกลับขึ้นมา" นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มที่น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว นอกจากกลุ่มอาหาร และกลุ่มรีเทล ก็มองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่การทำกำไรปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก ก็อาจจะเห็นการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งสำรองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการใช้ TFRS9 พอถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้การตั้งสำรองมีความแข็งแรงมาก อีกทั้งระบบการระดมเงินทุน ในอดีตที่มีการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างน้อย และใช้ทางเลือกอื่น อย่างตราสารหนี้ มองว่าตราสารหนี้น่าจะมีความฝืดมากขึ้น ทำให้เงินส่วนหนึ่งจะกลับมาพึ่งพากลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ Loan มีการเติบโต

สำหรับกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ นักวิเคราะห์ก็มีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลงมากันหลายรอบ โดยทางบล.เอเซีย พลัส ก็มีการปรับตัวเลขดังกล่าวลงมาอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท หรือ 72.62 บาท/หุ้น จากเดิมคาดไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีการปรับลงอีก เนื่องด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก และกินเวลามากกว่าคาด รวมถึงการประกาศตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 1/63 ของกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ค่อนข้างออกมาแย่, ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ขณะที่ภาค Real Sector น่าจะปรับตัวลงต่อ เช่น กลุ่มโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และรีเทล ทำให้อาจจะเห็นการปรับลดประมาณการลงอีก หลังการประกาศงบไตรมาส 1/63 เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ วอลุ่มการซื้อขายส่วนใหญ่มาจากผู้ลงทุนในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ก็ยังมีการขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักมาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ผลักดันตลาดให้ปรับตัวขึ้น โดยให้จับตาดูต่อไปว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะมีเม็ดเงินที่ขับเคลื่อนตลาดอีกมากน้อยเพียงใด เนื่องด้วยอาจเห็นแรงขับเคลื่อนที่เบาบางลง หรือปรับฐานลงมา รวมถึงการขายทำกำไรออกมา ส่วนการเปิดขายหน่วยลงทุนของกองทุน SSF ก็ยังเห็นเม็ดเงินเข้ามาค่อนข้างน้อยอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ