(เพิ่มเติม) IRPC คาดชนะโรงไฟฟ้าอย่างน้อย 2 โรง 1.4-1.6 พันMW, กำไร 2 ปีนี้ดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 5, 2007 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

           บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) จะยื่นประมูลงานโรงไฟฟ้าไอพีพี 4 โรงๆละ 700-800 เมกะวัตตต์ รวม 2,800- 3,200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 2 โรงและ อีก 2 โรงใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง โดยคาดหวังจะชนะประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินทั้ง 2 โรง  จากการที่บริษัทมีความพร้อมทั้งสถานที่และความเชี่ยวชาญ รวมทั้งได้เตรียมเงินทุนประมาณ  2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งเงินมาจากเงินกู้ 
"ผมคิดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินน่าจะชนะ ส่วนโอกาสได้งานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเรายังด้อยกว่ารายอื่นและก็คู่แข่งเยอะด้วย" นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมสถานที่สร้างโรงไฟฟ้า IPP ไว้ที่จ.ระยอง รวมทั้งคลังถ่านหิน ซึ่งหากชนะประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้ง 2 แห่ง ก็จะใช้เงินทุนประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัญหาเงินทุนไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีสถาบันการเงินเสนอตัวเข้ามามาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจเรื่องเวลาจะทันยื่นประมูลหรือไม่ เพราะยังติดปัญหาที่มีเวลาเตรียมการเอกสารในการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต้องยื่นซองประมูลพร้อมกับรายงานผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กันไปถึงจะทำให้ราคาออกมาดีสุด และถ้าสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรง ต้นทุนการสร้างก็จะต่ำกว่าสร้างทีละ 1 โรง ซึ่งถือเป็น scale ที่ดีที่สุด
ขณะที่การยื่นประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงไม่ค่อยหวังมากนัก เพราะรายอื่นมีความพร้อมมากกว่า รวมทั้งคู่แข่งก็มากด้วย แต่บริษัทก็คงจะยื่นประมูลไปด้วย
"ไม่แน่ใจว่าจะยื่นทันหรือไม่ เพราะระยะเวลามันสั้น ...โรงไฟฟ้าถ่านหินทำยากกว่า แต่ก็คิดว่าทางการจะออกมาประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีทุกปี เพราะที่ออกมาประมูล 3.2 พันเมกะวัตต์ ก็ไม่เยอะ แต่ถ้าทันเราก็จะยื่นหมด ต้องบอกตรงๆ เรามีความพร้อมน้อยที่สุดถ้าเทียบกับรายอื่น แต่ความได้เปรียบของเรามีคลังถ่านหินมากสุด แต่เราเองยังไม่ค่อยพร้อม เราเริ่มช้ากว่าคนอื่น อย่างถ่านหินเวลาน้อยเพียง 3 เดือนทำไม่ทัน ทั้งผลการศึกษา การเตรียมเอกสารเข้าประมูล ซึ่งต้องเข้าควบคู่ไป" นายปิติกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากในปีนี้บริษัทยื่นประมูลไม่ทันก็ไม่เป็นไร เพราะจะได้เตรียมความพร้อมบุคลากร แม้ปีนี้บริษัทตั้งใจเข้าประมูล แต่ถ้าไม่ทันก็คิดว่าปีหน้า ก็เชื่อเขาต้องเปิดอยู่เรื่อยๆ เพราะขณะนี้ปริมาณไฟฟ้าของไทยยังมีใช้ไม่พอ
**คาดกำไรช่วงปี 50-51 ดีขึ้นหลังปรับภาระหนี้ลงได้
นายปิติ คาดว่ากำไรสุทธิในช่วงปี 50-51 จะปรับตัวดีขึ้น หลังขายหุ้นกู้ทั้งสกุลเงินบาทมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาทได้ทั้งหมด จึงสามารถปรับอายุหนี้ได้นานเป็น 7-10 ปี และมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยลดลงประมาณ 70 ล้านบาท/ปี ทำให้บริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงทางการเงินจากเดิมที่มีเงินกู้ bridge loan ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังลดหนี้ที่อยู่ในรูปหุ้นกู้ ขณะนี้เหลือประมาณ 550 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ในปี 49 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6.8 พันล้านบาท
"การออกหุ้นกู้ 7 ปีกับ 10 ปี รวมทั้งหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐ เท่ากับลดหนี้ไปเกือบเท่าตัว ต้นทุนตอนที่เราไป swap มาก็ค่อนข้างดี ต้นทุนในช่วง 2 ปีแรก (50-51) เราถูกกว่าเก่า คือเราตกลงกันว่าแทนที่จะต้องจ่าย 6.3-6.4% แต่ใน 2 ปีนี้เราจะจ่ายแค่ 5%กว่าๆ เพราะฉะนั้น 2 ปีนี้เราจะภาระน้อยลงประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี ก็จะทำให้กำไรดีขึ้นแน่นอน" นายปิติกล่าว
นอกจากนี้ ในปีนี้ บริษัทดำเนินการโครงการตามแผน 2 โครงการ ได้แก่ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ขนาด 200 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการ โดยขณะนี้ได้สั่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ 6 ตัว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 24 เดือน หรือแล้วเสร็จราวต้นปี 52 และโครงการพัฒนากระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท
โดย 2 ปีแรก(ปี 50-51) ยังใช้เงินลงทุนไม่มากประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากงบลงทุนทั้งหมด 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงแรกใช้แหล่งเงินทุนของบริษัท ส่วนหลังที่ต้องใข้เงินทุนมากจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน โดยขณะนี้บริษัทยังมีความสามารถกู้ได้สูง เพราะอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ยังต่ำ 0.2-0.3 เท่า เท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ