นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยในการเสวนาออนไลน์ SEC FINTECH VIRTUAL SEMINAR 2020 ตอนที่ 2 พลิกโฉมธุรกิจ SME: โอกาสใหม่ในยุค COVID-19 ว่า จากแนวโน้มการฝากส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าภายหลังโควิด-19 คลี่คลายลงจะเห็น New Normal ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ อย่างแน่นอน เนื่องจากพฤติกรรมผู้ซื้อ-ผู้ขายน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านออนไลน์ที่จะมีมากขึ้น
ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เร่งปรับตัวในการใช้ช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งทางไปรษณีย์ก็มีความพร้อมในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเก็บเงิน และการฝากส่งจำนวนมาก โดยมีราคาสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ให้เติบโตไปกับ Social Commerce
นายพงษ์ทร กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Food delivery ของคนไทยขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทได้มีการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางการเกษตรจากสวนถึงผู้บริโภค โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมาก เห็นได้จากมีการส่งผลไม้ผ่านไปรษณีย์ราว 8 แสนกล่องต่อเดือน โดยจากนี้ทางไปรษณีย์จะใช้โอกาสนี้ปรับการขนส่งให้มีระบบควบคุมอุณหภูมิ, มีศูนย์กระจายสินค้าที่เป็นสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น
ขณะที่การดูแลผู้บริโภค ทางไปรษณีย์ก็มีการดูแลความสะอาด ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และมีนโยบายลดการเดินทางมาที่ไปรษณีย์ โดยใช้วิธีการเรียกเจ้าหน้าที่ให้ไปรับสินค้าตามบ้านได้ หรือเมื่อเจอเจ้าหน้าที่นำจ่ายสินค้าตามบ้าน ถ้ามีสินค้าฝากส่ง ให้ฝากส่งกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้เลย หรือหากมีสินค้าจำนวนมากให้ติดต่อทางไปรษณีย์ บริษัทฯ ก็จะส่งทีมออกไปรับฝากถึงที่บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริการ
ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีเครืองข่ายที่ทำการทั่วประเทศจำนวน 1 หมื่นแห่ง สามารถเข้าถึงได้ง่าย และร่วมกับพันธมิตรในการเปิดจุดให้บริการ เช่น โลตัส เอ็กซ์เพรส เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า รวมถึงทุกพื้นที่ในการนำจ่ายสิ่งของ ไปรษณีย์ไทยมีความเชี่ยวชาญข้อมูลพื้นที่ สามารถนำจ่ายได้แม่นยำ ขณะเดียวกันเรื่องของค่าบริการ ก็มีหลายระดับราคา หลายระดับมาตรฐาน ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ยังมีบริการขนส่งสินค้าให้กับสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี หรือพ่อค้าแม่ค้า ไปยังต่างประเทศ ด้วยบริการ ePacket จัดส่งสินค้าไปต่างประเทศในราคาประหยัด น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม หรือถ้าต้องการส่งด่วนก็จะมีบริการคูเรียร์โพสต์ (Courier Post)
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคม E-commerce และ CEO Priceza กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในมุมของสตาร์อัพ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นการปรับตัวของกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิมไปสู่แบบใหม่ เช่น จากเดิมขายตั๋วอีเวนท์ มาเป็นการจองซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ มองว่าในภาวะวิกฤติเช่นนี้หลายธุรกิจก็มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายสตาร์ทอัพที่ยังมีการเติบโตที่ดีอย่างมากในภาวะวิกฤตินี้ โดยเฉพาะธุรกิจ E-Commerce
"นอกจากสตาร์ทอัพแล้ว ตอนนี้ทุกๆ ธุรกิจ เอสเอ็มอี ออนไลน์ถือเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก ซึ่งในอนาคตทุกธุรกิจจะต้องมองถึงโอกาสว่าจะมาสู่ธุรกิจออนไลน์ได้อย่างไร"
ปัจจุบันสมาคมไทย E-Commerce มีสมาชิกรวมหลายหมื่นราย โดยมีตั้งแต่ระดับพ่อค้า แม่ค้า จนไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มชั้นนำในประเทศไทย
นายธนาวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ต้องการจะทำ E-Commerce แนะนำให้มองสองด้าน ด้านแรก คือ มองตัวเองว่ามีความถนัดหรือเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษหรือไม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างได้ เช่น เดิมเล่นกีตาร์เป็นงานอดิเรก หันมาสอนกีตาร์ออนไลน์ให้กับคนอื่นๆ เป็นต้น ด้านที่สอง คือ มองรอบๆ ตัวเอง เช่นสถานการณ์ปัจจุบันมีคนบ่นเรื่องอะไรบ้าง เพื่อทำให้สามารถสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์คนเหล่านั้น
ขณะที่ผู้ที่มีหน้าร้านอยู่แล้วและต้องการขายสินค้าออนไลน์ แนะนำว่าให้คงหน้าร้านไว้ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความคุ้นชินกับการซื้อของผ่านหน้าร้าน เห็นได้จากในปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายผ่านทาง E-Commerce คิดเป็นสัดส่วน 3% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างจีน มีมูลค่า E-Commerce คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่มีการซื้อของผ่านทางหน้าร้านอยู่ ขณะเดียวกันช่องทางออนไลน์จะช่วยทำให้การขาย ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์เกิดประสิทธิภาพและมีผลดีมากขึ้น
ส่วนผู้ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่มีการขายผ่านออนไลน์อย่างเดียวแนะนำว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ใช้การลงทุนในรูปแบบผ่านออนไลน์ไปก่อน เนื่องด้วยพฤติกรรมคนไทยมีการช็อปปิ้งผ่านทาง E-Commerce ใน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ Social Media คิดเป็นสัดส่วน 40%, E-market pace และการเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง ช่องทางที่อยากแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการขายของออนไลน์ให้เน้นผ่านทาง Social Media เป็นหลัก จากผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เป็นช่องทางหลักในการซื้อของออนไลน์, ให้ความรู้สึกเหมือนหน้าร้าน สามารถพูดคุยกับเจ้าของร้านได้
นายธนาวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการทำการตลาดออนไลน์ แนะนำให้ใช้หลัก 5C เสริมแกร่งเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.Core Focus รู้ถึงจุดแข็งของตัวเอง 2.Content creation หรือการสร้าง Content เพื่อนำไปสู่ C ที่ 3.Community การเข้าถึงของกลุ่มคน และจะเกิด 4.Commerce การค้าขายโดยอัตโนมัติ 5. CRM การเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ
น.ส.ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งกรุ๊ป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการตั้งกรุ๊ป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เกิดจากเพื่อนรอบตัวส่วนใหญ่มีการขายของ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีการปรับตัวมาขายในรูปแบบอื่นมากขึ้นทดแทนการขายผ่านหน้าร้าน รวมถึงยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจับจ่ายใช้สอย แต่ในช่วงวิกฤตินี้ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะให้คนสองกลุ่มนี้มาเจอกันได้ง่ายที่สุด โดยมีความเชื่อใจกัน
ปัจจุบันกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน มีสมาชิกราว 1.7 แสนราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้ากลุ่มอีก 4,000 ราย โดยมีการสงวนสิทธิ์ให้กับผู้ที่ต้องการฝากร้าน เป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น ขณะที่ผู้ซื้อไม่มีการจำกัด สามารถเป็นบุคคลใดก็ได้
สำหรับสินค้าที่นำมาขายในกลุ่มดังกล่าว ขณะนี้มีค่อนข้างหลากหลาย และมีการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าของตนเอง เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และสร้างมูลค่าของสินค้า โดยที่ผู้ซื้อยอมรับได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความคุ้มค่าที่จะจ่าย
"สิ่งที่เราทำได้ และเป็นไปได้ คือการ active กลุ่มให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ในการหาอีเวนท์ หรือคอนเทนท์ให้กับเพจ เพื่อให้คนยังรู้สึกว่ายังสามารถเข้ามาอ่านคอมเมนท์ หรือพูดคุยกันได้ มาร่วมกันทำกิจกรรมในเพจ ขณะที่ในอนาคตก็มองไปถึงการจัดงานแฟร์ ในช่วงที่สถานการณ์ปกติด้วย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ" น.ส.ภาวรินทร์ กล่าว
นายปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งกรุ๊ป จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มาจากการที่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน จากการเชิญชวนของเพื่อน ๆ ขณะเดียวกันส่วนตัวก็อยากหาพื้นที่ในการขายของของที่บ้าน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการขายในกลุ่มหมู่บ้าน ซึ่งยอดขายใกล้เคียงกับร้านที่เป็นไลน์แอด (Line @) ทำให้มองว่าโมเดลการขายแบบเป็นกลุ่มน่าจะเป็นพื้นที่ในการขายที่ดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นดังกล่าว
ปัจจุบันกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มีสมาชิกรวมราว 2.3 แสนราย โดยมีกติกาคล้ายกับทางกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ที่มีการสงวนสิทธิ์ให้กับผู้ที่ต้องการฝากร้าน เป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และประชาคมชาวจุฬาฯ ขณะที่ผู้ซื้อเป็นบุคคลใดก็ได้ ส่วนสินค้าที่ขายดีในกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร เช่น บราวนี่, น้ำส้มคั้น, ชีสเค้กหน้าไหม้ และผลไม้ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ หรือร้านที่ไม่ได้อยู่ใน Food Delivery, เชฟที่มีชื่อเสียง ก็มีการปรับตัวมาทำพรีออร์เดอร์ ดิลิเวอรี่
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักอยากให้กลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส เป็นเหมือน Community ที่ให้มีการซื้อขายสินค้า และในอนาคตอาจจะเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ การสร้างคอนเทนท์ที่มีสาระ ความบันเทิง และการรวบรวม data base เพื่อพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงการจัดงานแฟร์ ออฟไลน์ ที่ให้ผู้ซื้อ ผู้ขายได้มาเจอกัน ในจังหวะที่เหมาะสม