นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีรายได้รวม 42,845 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท ไม่รวมผลกระทบจากมาตรฐานบัญชี TFRS16
อนึ่ง ADVANC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 6.76 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.27 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.57 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.55 บาท
เอไอเอส ระบุว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้ลดลง -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการแข่งขันของอุตสาหกรรม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวลดลง รวมถึง ยังได้รับผลจากมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราว AIS Shop, Serenade Club และ AIS Telewiz ในพื้นที่ตามประกาศของภาครัฐ
ทั้งนี้ เอไอเอสมีผู้ใช้บริการรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 41.1 ล้านราย ยังคงมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 9.1 ล้านราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 32.0 ล้านราย
ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตได้ดี มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 52,800 ราย ส่งผลให้ในปัจจุบัน มีลูกค้าประมาณ 1.1 ล้านราย เสริมให้รายได้เติบโต 27% เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1,640 ล้านบาท โดยเอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงแผนการตลาดต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ Fixed-Mobile Convergence ที่ผสานกันระหว่าง 3 บริการหลัก ทั้งอินเทอร์เน็ตมือถือ, อินเทอร์เน็ตบ้าน, คอนเทนต์ผ่าน AIS PLAYBOX และ AIS PLAY เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ จากมาตรการล็อกดาวน์ และกระแสการ Work From Home ได้ส่งผลให้มีความต้องการใช้งานดาต้าและอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยเห็นได้ชัดจากช่วงครึ่งหลังของเดือน มี.ค.ส่งผลให้การใช้งานดาต้าไตรมาส 1/63 เพิ่มขึ้นเป็น 14.7 กิกะไบต์/ผู้ใช้บริการ/เดือน เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน และ 16% จากไตรมาสก่อน ด้านอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ ก็มีความต้องการติดตั้งใหม่ที่สูงขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมส่งผลให้ยอดลูกค้าติดตั้งใหม่ในเดือนมีนาคมเพิ่มสูงขึ้น
ถึงแม้จะได้รับความต้องการที่สูงขึ้นในบริการโทรคมนาคมของเอไอเอส แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเอไอเอส โดยเฉพาะรายได้จากการให้บริการ ซึ่งมีฐานลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้บริการทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในไตรมาส 1/63 รายได้จากการให้บริการหลักจึงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 33,090 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น ส่งผลให้เอไอเอสยังคงความสามารถในการทำกำไร โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 19,576 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ 16.3%
จากสถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงและมีความไม่แน่นอน ดังนั้น เอไอเอส จึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและแผนธุรกิจเพื่อคงรายได้จากหน่วยธุรกิจต่างๆ ในขณะที่หาแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อคงกระแสเงินสดและความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเอไอเอสมีความพร้อมในการเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนข้างต้นด้วยความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนภาษีดอกเบี้ยและค่าเสื่อม (Net debt to EBITDA) ในระดับ 0.7 เท่า ซึ่งแสดงถึงระดับหนี้ค่อนข้างต่ำ และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้ที่สูงกว่า 23,000 ล้านบาท โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปีนี้ จะเพียงพอสำหรับการลงทุนในการขยายโครงข่ายทั้งบริการ 5G และ 4G เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
หลังจากที่เอไอเอสเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ในเดือน ก.พ.63 สำหรับพัฒนาบริการ 5G เพื่อเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำในระยะยาว อีกทั้งจะช่วยสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ในอนาคต รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนเพื่อให้บริการ 4G โดยการลงทุนขยายโครงข่ายบนคลื่นความถี่ใหม่ย่าน 2600MHz ได้เริ่มต้นในปีนี้ เพื่อให้บริการทั้งบนเทคโนโลยี 4G และ 5G โดยมีงบการลงทุน 35,000-40,0000 ล้านบาท และเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย หลังจากขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุม 77 จังหวัดแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
"นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการดำเนินธุรกิจของเราแล้ว เอไอเอสยังเล็งเห็นถึงผลกระทบของวิกฤตที่ลุกลามไปในสังคมของเรา ดังนั้นนอกจากมาตรการดูแลลูกค้าและพนักงานอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว เรายังทุ่มสรรพกำลังเพื่อช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขในการรับมือวิกฤตนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจเร่งด่วน "AIS 5G สู้ภัย COVID-19" ด้วยงบลงทุนกว่า 110 ล้านบาท โดยเน้นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมของ 5G เพื่อการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วย COVID-19, การส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่พร้อมส่งมอบให้ครบทั้งหมดจำนวน 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ภายในเดือน พ.ค.63 นี้ รวมถึง สนับสนุนระบบสื่อสาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและองค์กรภาครัฐอีกมากมาย เพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตในเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและพร้อมรับมือวิกฤตในระยะยาว" นายสมชัย กล่าว