ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) มาอยู่ที่ระดับ "BBB" จาก "BBB+" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทเป็นระดับ "BBB+" จาก "A-" โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนสะท้อนถึงสถานะเครดิตของทั้งผู้ค้ำประกันและผู้ออกตราสาร (บริษัทล็อกซเล่ย์) ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทได้รับการค้ำประกันในสัดส่วน 45% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+" (Global Scale) ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จาก S&P Global Ratings
การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าคาดซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายโครงการที่สูงเกินงบ โดยการประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกระแสรายได้ของบริษัทที่มีความผันผวนและความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างอ่อนแอซึ่งเป็นลักษณะปกติของรายได้ของธุรกิจที่เป็นงานโครงการ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในด้านบวก อันดับเครดิตของบริษัทก็สะท้อนถึงการมีธุรกิจที่หลากหลายและความสัมพันธ์ที่ยาวนานทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการมีกระแสเงินสดจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากเงินปันผลจากบริษัทร่วมรายใหญ่จำนวน 2 แห่ง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อัตรากำไรจากการดำเนินการอ่อนตัวลงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากสู่ระดับ -1.7% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับระดับ 5.7% ในปี 2561 เนื่องจากบริษัทได้ตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากงานโครงการจำนวน 653 ล้านบาทในสายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ (Network Solution Business Group) และการมีค่าใช้จ่ายสำหรับผลประโยชน์พนักงานหลังเกษียณที่เพิ่มมากขึ้นเป็นหลัก
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4% ในช่วงปี 2563-2565 เนื่องจากบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไร โดยภายใต้แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจนั้น บริษัทได้ยกเลิกบางธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรและลดค่าใช้จ่ายพนักงานลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมากเนื่องจากบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายพนักงาน นอกจากนี้ งานโครงการของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ก็มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วยเนื่องจากการได้รับงานนั้นต้องผ่านการประมูลที่มีการแข่งขันที่รุนแรง
คาดว่ารายได้จะทรงตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีมูลค่างานในมือจำนวนมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าภาครัฐจะยังคงลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไปแม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลให้กระบวนการประมูลงานในบางโครงการต้องล่าช้าออกไปก็ตาม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสินค้าในสายธุรกิจการจัดจำหน่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารและสินค้าอุปโภคและบริโภคจะได้รับผลกระทบการจากแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่มากนัก
ธุรกิจที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง
บริษัทให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายผ่านบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยธุรกิจสำคัญของบริษัทจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) ธุรกิจพลังงาน (3) ธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ (4) ธุรกิจจัดจำหน่าย และ (5) ธุรกิจบริการ บริษัทยังลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าหลายแห่งซึ่งช่วยขยายขอบเขตกิจการของบริษัทออกไปในหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเครื่อง รวมไปถึงการผลิตเหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะและเคลือบสี โดยแหล่งรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจจำนวนมากมีส่วนช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้
มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มลูกค้า
บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานทั้งกับลูกค้าและผู้ผลิตและจำหน่าย กล่าวคือ บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าภาครัฐหลายแห่งจากการมีประวัติผลงานในโครงการจำนวนมากที่แล้วเสร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายสำคัญให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายระดับโลกมาอย่างยาวนานอีกด้วย
บริษัทมีคณะผู้บริหารและพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การมีความชำนาญทางเทคนิคในระดับสูงของพนักงานยังช่วยสร้างนวัตกรรมหรือเพิ่มโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถชนะการประมูลงานทั้งในภาครัฐและเอกชนได้อยู่เสมอ
กระแสเงินสดส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลของบริษัทร่วม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคิดเป็นส่วนใหญ่ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท บริษัทร่วมหลักเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ บริษัท บีพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ บริษัท บลูสโคปสตีล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กชั้นแนวหน้าซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ เงินปันผลเป็นแหล่งกระแสเงินสดที่แน่นอนและสม่ำเสมอของบริษัทเนื่องจากบริษัทร่วมมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีผลประกอบการที่ดี ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมจะอยู่ระหว่าง 400-600 ล้านบาท
สถานะทางการเงินอ่อนตัวลงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงในปี 2562 แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ -15.9 เท่าในปี 2562 เมื่อเทียบกับ 4.5 เท่าในปี 2561 อัตราส่วนที่ลดลงมากนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ลดลงเป็นจำนวนมากอันเป็นผลมาจากการมีต้นทุนพิเศษก้อนใหญ่ เช่น สำรองเผื่อผลขาดทุนของงานโครงการและค่าใช้จ่ายสำหรับผลประโยชน์พนักงานหลังเกษียณ
นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วยังเพิ่มขึ้นเป็น 41.7% ในปี 2562 จาก 36.0% ในปี 2561 อีกด้วย เมื่อพิจารณาจากผลสำเร็จที่เกิดจากแผนปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5-8 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับ 35% ในปี 2565
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งประเมินสภาพคล่องของบริษัทว่าจะอยู่ในระดับที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดจำนวน 2.25 พันล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 212 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 400 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 3.9 พันล้านบาทด้วย สภาพคล่องทั้งหมดของบริษัทคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวจำนวนประมาณ 590 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 2.8 พันล้านบาท ในขณะที่มีงบลงทุนสำหรับปี 2563 จำนวนประมาณ 28 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 1.25 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระหว่างปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้
รายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจาก -1.7% ในปี 2562 เป็นประมาณ 4% ในระหว่างปี 2563-2565
งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 84 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นถึงระดับ 35% ในปี 2565
อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะปรับตัวดีขึ้นจากระดับ -15% ในปี 2562 เป็น 14% ในปี 2565
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ระหว่าง 5-8 เท่าในปี 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในการประมูลงานต่อไปได้และยังคงสร้างรายได้จากงานโครงการในระดับที่สม่ำเสมอต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราการทำกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดจากอัตราการทำกำไรที่ลดลง หรือเงินปันผลรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ