นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะรีบาวด์ขึ้นตามตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างปรับตัวขึ้นกันทั่วหน้า ตามตลาดสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตอบรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่ร่วงลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ และยังมีความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วย ทำให้สถานการณ์ดูจะคลี่คลายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ปรับตัวขึ้น 5% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้น่าจะไปช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี อย่างไรก็ดี ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/63 ที่จะออกมาจำนวนมากในสัปดาห์นี้ และให้ติดตามการทบทวนการปรับการลงทุนของ MSCI ในรอบครึ่งปี ซึ่งก็จะมีทั้งการปรับน้ำหนักการลงทุน และปรับหุ้นเข้า/ออก โดยจะประกาศในวันที่ 12 พ.ค.นี้ รวมถึงให้ติดตามการปลดล็อกดาวน์ เฟส 2
พร้อมให้แนวรับ 1,260 จุด ส่วนแนวต้าน 1,280 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (8 พ.ค.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,331.32 จุด เพิ่มขึ้น 455.43 จุด ( +1.91%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,929.80 จุด เพิ่มขึ้น 48.61 จุด (+1.69%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,121.32 จุด เพิ่มขึ้น 141.66 จุด (+1.58%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 154.64 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 6.23 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 240.01 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 40.76 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 7.69 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 5.97 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 19.59 จุด
ส่วนตลาดหุ้นมาเลเซีย ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันหยุดชดเชยวันเผยแพร่คัมภีร์อัลกุรอ่าน
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (8 พ.ค.63) 1,266.02 จุด เพิ่มขึ้น 8.04 จุด (+0.64%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,283.43 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (8 พ.ค.63) ปิดที่ 24.74 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.19 ดอลลาร์ หรือ 5.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (8 พ.ค.) อยู่ที่ -1.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.19 แข็งค่าจากสัปดาห์ก่อน นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯร่วงหนัก
- ส.อ.ท.ระบุ "โควิด" ทำห่วงโซ่ผลิตโลกสั้นลง ลดพึ่งวัตถุดิบจากหลายประเทศ คาดกระแสย้ายฐานจากจีนแรง ไหลเข้ามาไทย-เวียดนาม ชิ้นส่วนไฮเทคกลับญี่ปุ่น สหรัฐอ้างโควิดดึงลงทุนกลับ ผู้ผลิตชิ้นส่วนคาดแนวโน้มค่ายรถเพิ่มลงทุนไทยหลังโควิด
- "นอนแบงก์" ชี้พิษโควิดทำรายได้ลดสภาพคล่องหด คนแห่นำรถยนต์-จักรยานยนต์ตึ๊งขอสินเชื่อ ดันยอดปล่อยกู้จำนำทะเบียนรถพุ่ง "เมืองไทยแคปปิตอล" คาดแนวโน้มไตรมาสสองยิ่งกระฉูด เหตุใกล้ฤดูเพาะปลูก ขณะ "ศรีสวัสดิ์" เร่งเตรียมสภาพคล่องรองรับลูกค้าเก่า-ใหม่ ขอกู้ ด้าน "ศักดิ์สยามลิสซิ่ง" ชี้หนี้เสียเพิ่มแค่เล็กน้อย
- "สุพันธุ์" เสนอตั้งกองทุนซื้อหุ้นโรงแรมไทย หวั่นต่างชาติกว้านซื้อในราคาต่ำ หลังโควิดทำพิษฉุดเศรษฐกิจแย่ โรงแรมกระทบหนัก ชี้ใส่เงื่อนไข 5-7 ปี ต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของเดิมซื้อหุ้นคืนได้
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังจากเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเกิดจากช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ แต่ได้ส่งผลดีต่อภาคครัวเรือนระยะสั้น เพราะจะทำให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าและอาหารในราคาถูกลง และได้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น มีเงิน 100 บาท ซื้อของได้มากกว่าเดิม เป็นการลดภาระครัวเรือนได้ แต่มองว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น หากเกิดภาวะเงินฝืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้
*หุ้นเด่นวันนี้
- KTC (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 35.5 บาท เป็นตัวเต็งที่คาดว่าจะได้ปรับเข้าคำนวณในดัชนี MSCI รอบใหม่ ประกาศผล 12 พ.ค. นี้ อีกทั้งยังมี Sentiment บวกจากที่ภาครัฐเตรียมปลดล็อกกิจกรรมเศรษฐกิจในเฟสที่ 2 อาทิ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า ค้าปลีก และวัสดุก่อสร้าง คาดหนุนยอดใช้บัตรเครดิดของ KTC เพิ่มขึ้น
- CBG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 107 บาท กำไรดีกว่าฟินันเซียฯและตลาดคาดมาก 801 ล้านบาท ทรงตัว Q-Q, +91% Y-Y จากการเติบโตของรายได้ในประเทศ (+12% Y-Y) และส่งออก (+30% Y-Y) โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนมาที่ทำจุดสูงสุดใหม่ ด้านการใช้กำลังการผลิตโรงงานกระป๋องเต็มที่และต้นทุนหีบห่อลดลง ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างน่าประทับใจที่ 42.4% ส่วนกำไร Q1/63 คิดเป็น 26% ของทั้งปีที่คาด 3 พันล้านบาท +22% Y-Y ปัจจุบันมี PE 25.5 เท่า ต่ำกว่าอดีตที่มากกว่า 30 เท่าและมี upside หาก C+Lock ทำได้ตามเป้าบริษัท
- PTTEP (หยวนต้า) "เก็งกำไร" คงมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวและปิดบวกเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน จาก 1) Supply น้ำมันทั้งกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่อง 2) ความต้องการน้ำมันค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการทยอยปลดล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทรงตัว ทางเทคนิคแนวต้าน 85.00/87.00 บาท แนวรับ 81.00 บาท และ Stop loss ถ้าปรับตัวลงต่ำกว่า 79.00 บาท