BTS คาดงวดปี 63/64 ธุรกิจรถไฟฟ้าฟื้นตัวตามระยะทางสายสีชมพู-เหลือง-เขียวหลังปลายมี.ค.-เม.ย.โควิดทำผู้โดยสารลดฮวบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2020 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวผ่านเสวนา"ห่วงใย Thai Business"CFO ชวนคุย EP.4 ในหัวข้อ"คุยกับ บีทีเอส กรุ๊ป แผนหลังปลดล็อกดาวน์"ว่า บริษัทอยู่ในช่วงวางแผนการดำเนินงานในงวดปี 63/64 (พ.ค.63-มี.ค.64) เบื้องต้นคาดว่าธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามจำนวนระยะทางระบบรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่อาจจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากเส้นทางสายหลัก ซึ่งรับรู้รายได้ผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ที่บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 1 ใน 3 หรือ 33%

ภาพรวมของ BTS ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ยอมรับว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อ EBITDA ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จากจำนวนผู้โดยสารที่ปรับตัวลดลงในช่วงปลายมี.ค.-เม.ย.63 ซึ่งรายได้จากการเดินรถในเส้นทางหลัก สายสีลมกับสายสุขุมวิทที่คิดเป็น 11% ของกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)

ส่วนธุรกิจมีเดีย คาดจะกระทบพอสมควร โดยเฉพาะสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย ขณะที่ธุรกิจออนไลน์, และธุรกิจโลจิสติกส์ (Kerry) ที่บริษัทฯ ถืออยู่ 23% ยังเติบโตได้ ซึ่งอาจจะเข้ามาชดเชยธุรกิจมีเดียได้บางส่วน ด้านธุรกิจโรงแรมน่าจะกลับมาเปิดได้ในช่วงปลายปีนี้

"ridership คิดเป็น 11% ของ EBITDA ของเรา ทำให้ส่งผลกระทบกับบริษัทค่อนข้างมาก แต่ถ้าเป็นการเดินรถ ซ่อมบำรุง ตรงนี้ไม่ได้โดนกระทบเลย และการรับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากสามารถเร่งการก่อสร้างได้ในช่วงที่รถไม่ติด ซึ่งถือเป็นข้อดีของการ diversity ของเรา"นายสุรยุทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนการเปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 64, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เปิดให้บริการปลายปี 64, สายสีทอง ปลายปี 63 และเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือที่จะเดินรถต่อไปถึงวัดพระศรีฯ ในเดือน มิ.ย.นี้

ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท ประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) คิดเป็นสัดส่วนราว 74%ของEBITDA จะมาจากกำไรจากการลงทุนกองทุน BTSGIF คิดเป็น 11%, การรับจ้างเดินรถกรุงเทพฯ และซ่อมบำรุง (O&M) คิดเป็น 23% และรับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าราว 40% รวมถึงธุรกิจบริการด้านดิจิทัล 23% และอื่นๆ อีก 3% ของ EBITDA มาจากกลุ่มธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นายสุรยุทธ กล่าวว่า บริษัทวางแผนหลังปลดล็อกดาวน์ และเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารในการใช้บริการรถไฟฟ้าผ่านมาตรการ Soocial Distancing ห่างเพราะห่วง เช่น แนะนำให้ผู้โดยสารใช้บัตรแรบบิท (Rabbit) แทนเงินสด, ตรวจสุขภาพและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่, เพิ่มความถี่ในการให้บริการ โดยเฉพาะช่วงใกล้เคอร์ฟิว หรือประมาณ 20.00-21.30 น. ทั้งสายสุขุมวิทและสายสีลม

รวมถึงร่วมมือกับ กทม.จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและทหารมาช่วยจัดระเบียบผู้โดยสาร จากเดิมที่รองรับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ที่ 1,000-1,200 คน/ขบวน แต่ปัจจุบันได้มีการขอความร่วมมือในการจัดระเบียบผู้โดยสารให้ขึ้นใช้บริการรถไฟฟ้าน้อยลงเป็น 200-250 คน/ขบวน เพื่อตอบโจทย์ของการเว้นระยะห่างทางสังคม และการขอความร่วมมือผู้โดยสารใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในการใช้บริการรถไฟฟ้า, ขอความร่วมมือกับทางหน่วยงานอื่นๆ และภาครัฐ ในการสลับเวลาเข้างานของพนักงาน เพื่อลดความหนาแน่นของรถไฟฟ้า

นอกจากนั้น บริษัทยังเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นบริเวณจุดสัมผัสต่างๆ ทุกครั้งที่รถจอดปลายทาง และช่วงที่ผู้โดยสารยืนรอรถไฟฟ้าก็จัดเจ้าหน้าที่ไปให้บริการเจลแอลกอฮอลล์ ทำความสะอาดภายในรถไฟฟ้า รวมถึงจุดคัดกรองผู้โดยสาร โดยปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแล้ว

"แผนหลังจากนี้ หลักๆ ในธุรกิจรถไฟฟ้าก็จะเน้นไปที่เรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสาร และการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนธุรกิจมีเดีย เราก็เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแล้ว, ธุรกิจโรงแรมเรายังปิดอยู่" นายสุรยุทธ กล่าว

ขณะที่แผนงานด้านอื่น ๆ ในงวดปีนี้ บริษัทมองแนวทางการออกหุ้นกู้ประเภทกรีนบอนด์เพิ่มเติม หลังได้มีการออกไปแล้วและได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งถือเป็นกรีนบอนด์ตัวแรกในประเทศที่ขายให้กับไฮเน็ตเวิร์ธและสถาบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ