บอร์ดตลท.ยกเลิกผ่อนผันการวางหลักประกัน10%ลูกค้าบัญชีเงินสด มีผล 1 ต.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 25, 2007 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติยกเลิกการผ่อนผันการวางหลักประกันร้อยละ 10 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ สำหรับบัญชีเงินสดของผู้ลงทุนบุคคลทั้งในและต่างประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป  
ทั้งนี้ เดิมได้มีการผ่อนผันให้ผู้ที่มีวงเงินต่ำกว่า 500,000บาท ไม่ต้องวางหลักประกันร้อยละ 10 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าการผ่อนผันหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีระยะเวลารวมประมาณ 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกข้อบังคับให้บริษัทสมาชิกเรียกให้ลูกค้าวางทรัพย์สินเป็นหลักประกันก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อให้มีผลให้ตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2547 แต่ได้ผ่อนผันให้ผู้ลงทุนที่มีวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ต่ำกว่า 1,000,000 บาทไม่ต้องวางหลักประกันในช่วง 6 เดือนแรก ระหว่าง 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2547 และผ่อนผันให้ผู้ที่มี วงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ต่ำกว่า 500,000 บาท ไม่ต้องวางหลักประกัน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา
อีกทั้งคณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้แจ้งว่า บริษัทสมาชิกมีความพร้อมในระบบการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวางหลักประกันดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งเห็นว่าการกำหนดให้มีการวางหลักประกันร้อยละ 10 ของวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของบริษัท และส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีวินัยในการลงทุนเพิ่มขึ้น
“การยกเลิกการผ่อนผันดังกล่าว จะทำให้ผู้ลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีเงินสด ต้องมีการวางหลักประกันในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 10 ของวงเงินที่จะซื้อหลักทรัพย์ก่อนที่จะเริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงทั้งของผู้ลงทุนและบริษัทสมาชิกในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน และเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนโดยรวม รวมทั้งจะมีส่วนส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีการวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"นายสุทธิชัย กล่าว
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับสมาชิก เพื่อให้มีการสร้างความเข้าใจกับลูกค้าอย่างทั่วถึงก่อนที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ