BDMS ลดงบลงทุนปี 63-64 สอดคล้องรายได้หดตัวจากพิษโควิดฉุดยอดผู้ป่วยลด, มั่นใจหากคลี่คลายผู้ป่วยใช้บริการตามปกติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2020 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล น้อยอ่ำ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพด้วยเช่นกัน โดยในช่วงปลายเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการชะลอตัวของผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ และเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงปลายเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมานี้ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลในเครือลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยที่ผู้ป่วยชาวไทย และชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย (Expat) ชะลอการเข้ามารักษาในโรงพยาบาล เพราะกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในโรงพยาบาล และไม่อยากเดินทางออกนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโอกาสในการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ป่วยที่นัดหมายผ่าตัดศัลยกรรมทางเลือก (Elective Surgery) เลื่อนนัดหมาย และชะลอการเข้ามารักษาในโรงพยาบาลไปก่อน ส่วนผู้ป่วยชาวต่างชาติที่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อรักษาในโรงพยาบาลไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะสายการบินหยุดบิน และในประเทศไทยได้มีคำสั่งปิดน่านฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาทั้ง OPD และ IPD ลดลง

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้เริ่มเห็นการกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยชาวไทย และผู้ป่วยกลุ่ม Expat หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีจำนวนลดลงอย่างมาก และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ระบบการคัดกรองที่เข้มงวดมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการมีความมั่นใจในการเข้ามารักษา ทำให้ผู้ป่วยในประเทศเริ่มทยอยกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาล แต่ในส่วนของผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะกลับเข้ามาได้ เพราะยังมีคำสั่งปิดการบินระหว่างประเทศถึงสิ้นเดือนพ.ค.นี้

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่บริษัทจะต้องทำในภาวะวิกฤติ คือ การบริหารจัดการกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต้องมีการควบคุมทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงไป ซึ่งบริษัทยอมรับว่าได้ปรับลดงบลงทุนลงมาเหลือน้อยกว่าแผนที่วางไว้ 7-8% ของรายได้ ในปี 63-64 เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัท และชะลอแผนการลงทุนที่ยังไม่มีความจำเป็นมากในช่วงนี้ออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์

"จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์และวางแผนกันใหม่ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งมองว่าหากผ่านพ้นวิกฤติไปเศรษฐกิจจะไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ทำให้ในปี 63-64 ต้องระมัดระวังในการใช้เงินค่อนข้างมาก พยายามไม่ก่อหนี้เพิ่ม ระวังการกู้มากขึ้น หากจำเป็นต้องกู้ก็ต้องหาแหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนไม่สูง อะไรที่คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องลงทุนก็ชะลอออกไปก่อน เพื่อควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลง แต่สิ่งที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาล คือ การรักษาคุณภาพมาตรฐานของการบริการ และดูแลบุคลากรของโรงพยาบาลให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้ความเชื่อมั่น" นางนฤมล กล่าว

ส่วนแนวโน้มหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปแล้ว บริษัทยังมั่นใจว่าผู้ป่วยจะกลับมารักษาในโรงพยาบาลตามปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยจากต่างชาติที่จะยังคงเดินทางเข้ามารักษาและใช้บริการในโรงพยาบาลในประเทศไทย จากความเชื่อมั่นคุณภาพและมาตรฐานการรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่มีคุณภาพ ความสามารถ และสบการณ์การรักษาที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและในโลก รวมถึงคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ดีกว่าโรงพยาบาลในหลาย ๆประเทศ และราคาค่ารักษาที่ยังมีความคุ้มค่า

โดยผู้ป่วยชาวต่างชาติที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาเข้ามาเป็นกลุ่มแรกหากมีการกลับมาเปิดการบินระหว่างประเทศคาดว่าจะเป็นกลุ่มอาเซียน เช่น เมียนมา และกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามารักษา เพราะโรงพยาบาลในประเทศไทยถือว่ามีคุณภาพและการบริการการรักษาที่ดีกว่าทั้งสองประเทศ และกลุ่มตะวันออกกลางคาดว่าจะกลับเข้ามารักษาในลำดับต่อมา ส่วนกลุ่มชาวจีนซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศจีนในการส่งตัวเข้ามารักษาในโรงพยาบาลในเครือของบริษัท และได้หยุดชะงักไปหลังจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทจะกลับมารุกขยายฐานชาวจีนเพิ่มขึ้นหลังจากกลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ เครือโรงพยาบาล BDMS ถือว่ามีจุดแข็งที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ มีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 48 แห่ง จำนวนเตียง 8,300 เตียง มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 12,000 คน และพยาบาล 9,000 คน เป็นเครือโรงพยาบาล 1 ใน 5 ที่ได้รับการยอมรับในโลก และมีการบริการที่มีมาตรฐานครอบคลุมการรักษาต่าง ๆ ครบถ้วน และสิ่งที่บริษัทผลักดันในระยะต่อไป คือ การนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์มาใช้มากขึ้น หลังจากที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน โดยที่บริษัทจะพัฒนาบริการด้านการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการให้บริการตรวจถึงบ้าน (Home Healthcare) ซึ่งเริ่มนำร่องการบริการตรวจเลือดถึงบ้านแล้ว ซึ่งจะเป็นช่องทางที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการของโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เครือ BDMS ต้องการให้ภาครัฐผลักดันอย่างจริงจัง คือ การเพิ่มสัดส่วนให้คนไทยมีประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นคนไทยที่เข้ามารักษาในโรงพยายาลมีการใช้ประกันสุขภาพในสัดส่วนที่น้อยกว่า 20% ของจำนวนประชากร ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วน 20-30% และน้อยกว่าในหลาย ๆ ประเทศที่มีสัดส่วนการรักษาด้วยประกันสุขภาพ 70-80% ของจำนวนประชากร

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยชาวไทยเป็นกลุ่มจ่ายค่ารักษาด้วยเงินสด ซึ่งในบางครั้งโรคที่มีความซับซ้อนมาก ค่ารักษาจะเพิ่มขึ้นไปตามความซับซ้อน ทำให้ค่ารักษาที่เตรียมไว้อาจจะไม่เพียงพอ และหากกลับมาคิดว่าทำงานมาทั้งชีวิตเพื่อรักษาโรคเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าประกันสุขภาพ ทำให้บริษัทเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ อยากให้ภาครัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจให้คนไทยซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังอยากเห็นการเป็นพันธมิตรระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันยกระดับการบริการด้านสาธารณสุข และส่งผ่านความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการบริการร่วมกัน และมีการทำงานร่วมกันในการส่งคนไข้ไปรักษาต่ออย่างสะดวกมากขึ้น ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ